นานาสาระ

๒. ต ปัจจัยกับความเป็นนามกิตก์
            นามกิตก์ เป็นกิตก์ที่ใช้ในฐานะที่เป็นคำนามชนิดหนึ่ง สำเร็จมาจากธาตุ (กิริยา) ผสมกับปัจจัยในกิตก์ มีความหมายคล้าย ๆ กับการกะ คือมีความหมายตามรูปวิเคราะห์ ที่ประสงค์จะให้เป็นสาธนะหรือใช้ในอรรถใด ๆ เช่น ใช้ในอรรถกัตตา ก็หมายความว่า คำนามชนิดนี้มีความหมายเป็นผู้กระทำ เรียกว่า กัตตุสาธนะ เพราะสำเร็จมาจากรูปวิเคราะห์ที่บ่งถึงกัตตา. ใช้ในอรรถกรรม ก็หมายความว่า คำนามชนิดนี้มีความเป็นผู้ที่ถูกกระทำ เรียกว่า กรรมสาธนะ เพราะสำเร็จมาจากรูปวิเคราะห์ที่บ่งถึงกรรม. ใช้ในอรรถที่ไม่กล่าวถึงผู้ทำและผู้ถูกกระทำ แต่กล่าวถึงสภาวะ หรือ สักแต่การกระทำ เรียกว่า                ภาวสาธนะ ใช้ในอรรถกรณะ,สัมปทาน, อปาทานะและอธิกรณสาธนะ  ก็มีความหมายถึงเป็นเครื่องมือใช้กระทำ, เป็นที่รับมอบ, เป็นที่แยกออก, เป็นสถานที่ ตามลำดับ ดุจเดียวกับวิภัตติ.
            ตปัจจัย มิได้ปรากฏใช้เป็นคำกิริยาอย่างเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ โดยที่แท้แล้ว ในคัมภีร์ไวยากรณ์ทั้งหลายแสดงไว้โดยรวม ๆ ว่า ต ปัจจัยใช้ลงในอรรถกัตตา เช่น สูตรว่า พุธคมาทิตฺเถ กตฺตริ จ ครั้นเมื่ออรรถของธาตุมี พุธ และ คมุ ธาตุเป็นต้น ถูกรู้อยู่ ลง ต ปัจจัย ในเบื้องหลังจากธาตุมี พุธ และ คมุ ธาตุ เป็นต้นนั้น ในอรรถกัตตา  ในกาลทั้งปวง
หรือสูตรว่า ภาวกมฺเมสุ ต ต ปัจจัย ย่อมลง ในอรรถภาวะและกรรม ในอดีตกาล.
มิได้ระบุว่า ให้ใช้เป็นคำกิริยาอย่างเดียวไม่. นี้ก็หมายความว่า ต ปัจจัย นอกจากจะเป็นกิริยาบทแล้ว ยังสามารถใช้เป็นบทนามได้ด้วยโดยใช้ในอรรถกัตตา(หรือกัตตุวาจก), หรืออรรถภาวะ , กรรม (ภาววาจกและกรรมวาจก) ด้วยเหตุนี้ ต ปัจจัยจึงสามารถใช้เป็นคำนามได้ ที่เรียกว่า นามกิตก์ นั่นเอง.
            อย่างไรก็ตาม ต ปัจจัย เมื่อใช้เป็นนามกิตก์แล้ว โดยเฉพาะที่เป็นกัตตุสาธานะ เวลาแปลให้ออกสำเนียงว่า ผู้ เช่น พุทฺธ ผู้รู้ สตฺต ผู้ติดข้อง, จิตฺต ธรรมชาติคิด, สรณงฺคต ผู้ถึงสรณะ, ญาต ธรรมชาติรู้, อุเปต ผู้เข้าถึง (หรือแปลทับศัพท์ว่า พระพุทธเจ้า, สัตว์, จิต, สรณังคตะ, ญาต, อุเปตะ) เป็นต้น ไม่ต้องออกสำเนียงว่า แล้ว เพราะเป็นคำนาม. คำว่า ผู้ หรือ ธรรมชาติ ในที่นี้ ไม่ใช่สำเนียงแปลของคุณนาม แต่เป็นสำเนียงของกัตตุสาธนะนั่นเอง แม้จะมีฐานะเป็นคุณนามก็ตาม. ถ้าใช้เป็นกิริยาคุมพากย์ ก็ไม่ต้องมีสำเนียงว่า ผู้ นำหน้า แต่ให้มีสำเนียงว่า แล้ว อยู่ท้าย.  แต่ถ้าใช้ในฐานะเป็นคุณศัพท์ให้มีทั้งสำเนียงว่า ผู้ นำหน้าและ แล้ว อยู่ท้าย.
            ส่วนในอรรถกรรม โดยมากเห็นใช้เป็นกิริยา เช่น อภิภูโต ความโกรธ อันเขาครอบงำแล้ว, ภาสิโต ธรรมอันพระศาสดา ตรัสแล้ว, ชิโต มาร อันพระชินเจ้า ทรงชนะแล้ว. นั่นก็หมายความว่า เวลาแปลต้องเพิ่มบทกัตตาเข้าด้วย โดยประกอบเป็นตติยาวิภัตติ เรียกชื่อ ตติยาวิภัตตินั้นว่า อนภิหิตกัตตา (กัตตาที่มิได้ออกชื่อ)
            ส่วนในอรรถภาวะ มักใช้เป็นคำนามมากกว่า เช่น คีตํ การขับร้อง, นฏฺฏํ, นจฺจํ การฟ้อนรำ, หสิตํ การหัวเราะ, ฐิตํ การยืน, สยิตํ การนอน, โรทิตํ หรือ รุณฺณํ การร้องไห้.
ที่ปรากฏใช้เป็นกิริยาก็มี ดังอุทาหรณ์ที่ปกรณ์ปทรูปสิทธิ ได้ยกมาแสดงว่า อาสิตํ อันชนอยู่แล้ว ในที่นี้,  ฐิตํ อันชนทั้งหลาย ยืนแล้วในที่นี้ ดังนี้เป็นต้น.
            นอกจากจะใช้ในอรรถทั้ง ๓ นั้นแล้ว ยังปรากฏใช้ในอรรถอธิกรณสาธนะ (เป็นสถานที่) แต่มีข้อกำหนดว่า ต้องลง ต ปัจจัยท้ายธาตุที่มีลักษณะเหล่านี้ คือ
            ๑. ธาตุที่มีอรรถไม่เคลื่อนไหว ที่เป็นอกรรมกธาตุ เช่น อาส เข้าไปใกล้, สิท ธาตุหยุดการไป (นั่ง), ฐา ธาตุ ยืน, สี ธาตุ นอน, วส ธาตุ อยู่. เช่น เต อจฺฉึสุ เอตฺถาติ อาสิตํ ชนทั้งหลายเหล่านั้น อยู่แล้ว ในที่นี้ เหตุนั้น ที่นี้ ชื่อว่า อาสิตํ (ฐานํ) อาสิต ที่เป็นที่เข้าไปใกล้ (ไม่แปลว่า การเข้าไปใกล้หรือ เข้าไปใกล้แล้ว) ในธาตุอื่น  ๆ เช่น นิสินฺนํ ฐานํ ที่เป็นที่นั่ง, นิปนฺนํ ฐานํ ที่เป็นที่นอน ดังนี้เป็นต้น.
            ๒. ธาตุที่มีอรรถว่า การไป เช่น ยา ธาตุ ไป , คมุ ธาตุ ไป เช่น อยาสุ ํเอตฺถาติ ยาโต (มคฺโค) ชนทั้งหลายเหล่านั้น ไปแล้ว ในหนทางนี้ เหตุนั้น หนทางนี้ ชื่อว่า หนทางเป็นที่ไป ,  คจฺฉึสุ เอตฺถาติ คตํ ชนทั้งหลายเหล่านั้น ไปแล้วในที่นี้ เหตุนั้น ที่นี้ ชื่อว่า เป็นที่ไปแล้ว ของชนเหล่านั้น (หรือ คตฏฺฐานํ), คตกาโล กาลเป็นที่ไป
            ๓. ธาตุที่มีอรรถว่า การกิน เช่น ปา ธาตุ ดื่ม , ภุช ธาตุ กลืนกิน เป็นต้น เช่น            ภุญฺชึสุ เอตสฺมินฺติ ภุตฺตํ  ชนทั้งหลายเหล่านั้น กินแล้ว ในที่นี้ เหตุนั้น ที่นี้ ชื่อว่า ที่เป็นที่กิน ของชนเหล่านั้น (หรือ ภุตฺตฏฺฐานํ), ภุตฺตกาโล กาลเป็นที่กิน.
            ปิวึสุ เอตฺถาติ ปีตํ ชนทั้งหลายเหล่านั้น ดื่มแล้ว ในที่นี้ เหตุนั้น ที่นี้ ชื่อว่า ที่เป็นที่ดื่ม ของชนเหล่านั้น.
                         

²²²

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น