14/10/56

๓. สระ ๘ ตัว

            ๑๐. ในภาษาบาลี มีอักษรอยู่ ๔๑ ตัว ประกอบด้วยสระ ๘  ตัว  พยัญชนะ ๓๓ ตัว
            ๑๑.  สระ ๘  ตัว  คือ 
                                    อ          อา        อิ          อี          อุ          อู          เอ         โอ
                   พยัญชนะ ๓๓ ตัว คือ   
                                    ก          ข          ค          ฆ         ง    
                                    จ          ฉ         ช          ฌ            
                                    ฎ                   ฑ         ฒ         ณ
                                    ต         ถ          ท         ธ          น    
                                    ป         ผ          พ         ภ         ม     
                                    ย          ร          ล          ว           ส        ห          ฬ        อ°              
ทั้งสระและพยัญชนะทั้ง ๔๑ ตัว นั้น  จะกล่าวถึงสระก่อน
สระ
            ๑๒.   อักษร ๘ ตัว มี  อ เป็นต้น ไปจนถึง โอ ชื่อว่า สระ เพราะออกเสียงได้ตามลำพังตัวเองและทำให้พยัญชนะออกเสียงได้              
                        สระ ๘ ตัวนั้น แบ่งออกเป็น ๒ พวก ตามระยะเวลาที่ออกเสียง คือ
            ๑. รัสสสระ ได้แก่ สระที่มีมาตราเบา คือ มีระยะเวลาในการออกเสียงไว ใช้เวลาเพียง ๑ มาตรา (มาตรา ได้แก่ เวลาอันกำหนดด้วยการดีดนิ้วมือ หรือการกระพริบตา ดังนั้น หนึ่งมาตรา คือ ช่วงเวลาของการดีดนิ้วมือครั้งหนึ่ง หรือกะพริบตาครั้งหนึ่ง.  ถ้าเทียบกับสมัยนี้ น่าจะได้แก่ วินาที  หนึ่งมาตรา ใช้เวลาประมาณ ครึ่งวินาที)  ได้แก่ สระที่ออกเสียงสั้น มี ๓ ตัว คือ อ  อิ  อุ.
๒. ทีฆสระ ได้แก่ สระที่เหลือจากรัสสสระอีก ๕ ตัว คือ อา  อี  อู  เอ  โอ เพราะมีระยะเวลาออกเสียงที่ยาว คือ ใช้เวลา ๒ มาตรา (ประมาณ ๑ วินาที) จึงมีชื่อว่า ทีฆสระ.
            ยังมีข้อยกเว้นอีกคือ เอ โอ ที่นำหน้าพยัญชนสังโยค (คือ ที่ซ้อนกันอยู่) เป็นรัสสสระ เช่น เสยฺโย  โสตฺถิ .  
               สระเหล่านั้น ยังแบ่งออกเป็น ๒ พวกได้ตามน้ำหนักของเสียงที่เปล่งออกมา คือ
            ๑.  ครุ คือ  สระที่มีเสียงหนัก     ได้แก่
                        - ทีฆสระล้วน (คือไม่มีพยัญชนสังโยค)
                        - รัสสสระที่มีพยัญชนสังโยคอยู่ข้างหลัง  เช่น มนุสฺสินฺโท
                        - รัสสสระที่มีนิคคหิตอยู่ข้างหลัง เช่น โกเสยฺยํ
            ๒.  ลหุ คือ   สระที่มีเสียงเบา  ได้แก่
                        - รัสสสระล้วน คือ ไม่มีพยัญชนสังโยคและนิคคหิตอยู่ข้างหลัง
            สระเหล่านั้น ยังแบ่งออกเป็น ๓ พวก ตามลักษณะที่เข้าคู่กันได้ เพราะเกิดในฐานเดียวกัน (ดังจะได้กล่าวต่อไป) คือ
            ๑.  อวัณณะ ได้แก่ อ อา (เข้าคู่กันได้เพราะมีฐานเดียวกัน)
            ๒.  อิวัณณะ  ได้แก่  อิ  อี
            ๓.  อุวัณณะ ได้แก่ อุ  อู
            ส่วน เอ และ โอ เรียกว่า สังยุตตสระ เพราะประกอบเสียงสระสองตัวเข้าเป็นเสียงเดียวกัน (คือ อ  กับ  อิ  ผสมกัน  เป็นเอ,  อ  กับ  อุ  ผสมกัน เป็น โอ) ดังนั้น เอ และ โอ มีฐานที่เกิดต่างกัน จึงไม่เรียกเป็นวัณณะ เพราะเกิดได้ใน ๒ ฐาน.
            คำว่า วัณณะ ในที่นี้ ได้แก่ ฐานและกรณ์ หรืออวัยวะที่กระทำเสียง มีท่ามกลางลิ้นเป็นต้น ดังนั้น ที่เรียก อ กับ อา เป็นต้นว่า อิวัณณะ เป็นต้น เพราะมีฐานและกรณ์เหมือนกัน จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สวัณณะ แปลว่า มีฐานและกรณ์เหมือนกัน.
ส่วน เอ และ โอ เรียกว่า อสวัณณะ เพราะมีฐาน และ กรณ์ ต่างกัน (เรื่องฐานและกรณ์ จะได้กล่าวโดยละเอียดในเรื่องการออกเสียงอักขระสืบไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น