21/10/56

๑๗. ศึกษาเปรียบเทียบกับที่มาในหนังสือแบบเรียนบาลีไวยากรณ์

ส่วนในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ท่านแสดงไว้ ดังนี้คือ
         “โลปะ ที่ต้นมี ๒ คือ ลบสระหน้า ๑ ลบสระหลัง ๑
         สระที่สุดของศัพท์หน้า เรียกว่า สระหน้า, 
         สระหน้าของศัพท์หลัง เรียกว่า  สระหลัง.
         เมื่อสระทั้ง ๒ นี้ ไม่มีพยัญชนะอื่นคั่นในระหว่าง ลบได้ตัวหนึ่ง.  ถ้าพยัญชนะอื่นคั่นในระหว่าง ลบไม่ได้.
         ลบสระเบื้องต้น ท่านวางอุทาหรณ์ไว้ดังนี้
         ยสฺส อินฺทฺริยานิ,  ลบสระหน้า คือ อ ในที่สุดแห่งศัพท์ ยสฺส เสีย สนธิเป็น ยสฺสินฺทฺริยานิ,
         โนหิ เอตํ ลบสระหน้า คือ อิ ที่สุดแห่ง ศัพท์ โนหิ เสีย สนธิเป็น โนเหตํ.
         สเมตุ อายสฺมา ลบสระหน้า คือ อุ ที่สุดแห่งศัพท์ สเมตุ เสีย สนธิ เป็น สเมตายสฺมา.
         ในอุทาหรณ์เหล่านี้
         สระหน้าเป็นรัสสะ สระเบื้องปลายอยู่หน้าพยัญชนะสังโยคบ้าง เป็นทีฆะบ้างจึงเป็นแต่ลบสระหน้าอย่างเดียว.
         ถ้าสระทั้งสอง เป็นรัสสะ มีรูปเสมอกัน คือ เป็น อ หรือ อิ หรือ อุ ทั้ง ๒ ตัว เมื่อลบแล้ว ต้องทำสระที่ไม่ได้ลบด้วยทีฆะสนธิที่แสดงไว้ข้างหน้า เหมือนอุ.ว่า ตตฺร อยํ เป็น ตตฺรายํ เป็นต้น.
         ถ้าสระทั้ง ๒ เป็นรัสสะ แต่มีรูปไม่เสมอกัน คือ ข้างหนึ่งเป็น อ ข้างหนึ่งเป็น อิ หรือ อุ ก็ดี ข้างหนึ่งเป็น อิ ข้างหนึ่งเป็น อุ หรือ อ ก็ดี ข้างหนึ่งเป็น อ หรือ อิ ก็ดี ไม่ต้องทีฆะก็ได้ เหมือน อุ. ว่า จตูหิ อปาเยหิ เป็น จตูหปาเยหิ เป็นต้น.
         ถ้าสระหน้า เป็น ทีฆะ สระเบื้องปลายเป็นรัสสะ ถ้าลบแล้วต้องทีฆะสระหลัง เหมือน อุ. ว่า สทฺธา อิธ เป็น สทฺธีธ เป็นต้น.
         เมื่อว่าโดยสังเขป -
         ถ้าลบสระสั้นที่มีรูปไม่เสมอกัน ไม่ต้องทีฆะสระสั้นที่ไม่ได้ลบ.
         ถ้าลบสระยาวหรือสระสั้นที่มีรูปเสมอกัน ต้องทีฆะสระสั้นที่ไม่ได้ลบ
         ถ้าสระ ๒ ตัวมีรูปไม่เสมอกัน ลบสระเบื้องปลายบ้างก็ได้ อุ. ว่า จตฺตาโร อิเม ลบสระอิ ที่ศัพท์ อิเม เสีย สนธิกันเป็น จตฺตาโรเม, กินฺนุ   อิมา ลบสระอิ ที่ศัพท์ อิมา เสีย สนธิกันเป็น กินฺนุมา,
         นิคฺคหิตอยู่หน้า ลบสระเบื้องปลายได้บ้าง อุ. ว่า อภินนฺทุ อิติ เป็น อภินนฺทุนฺติ.
            สรุปเป็นกฎเกณฑ์ได้ดังนี้
การลบสระหน้า
         ๑. สระหน้าต้องเป็นรัสสสระ สระหลังต้องเป็นทีฆะ หรือไม่ก็อยู่หน้าพยัญชนะสังโยค เช่น ยสฺส อินฺทฺริยานิ เป็น ยสฺสินทฺริยานิ.
         ๒. ถ้าทั้งสระหน้าและสระหลังเป็นรัสสะทั้งคู่ และมีรูปเดียวกัน คือ เป็น อ อิ อุ เหมือนกัน เมื่อลบสระหน้าไปแล้ว ต้องทีฆะสระหลัง เช่น ตตฺร อยํ  เป็น ตตฺรายํ.
         ๓. ถ้าสระหน้าและสระหลังเป็นรัสสะทั้งคู่ แต่มีรูปต่างกัน เช่น เป็น หน้าเป็น อ หลังเป็น อิ ลบสระหน้าแล้วไม่ต้องทีฆะสระหลัง เช่น จตูหิ อปาเยหิ เป็น จตูหปาเยหิ.
         ๔. ถ้าสระหน้าเป็นทีฆะ สระหลังเป็นรัสสะ ลบสระหน้าแล้วต้องทีฆะสระหลัง
เช่น สทฺธา อิธ เป็น สทฺธีธ.
การลบสระหลัง
         ๑. ถ้าสระ ๒ ตัว มีรูปไม่เสมอกัน ลบสระหลังได้บ้าง เช่น จตฺตาโร อิเม เป็น
จตฺตาโรเม.

         ๒. นิคคหิตอยู่หน้า ลบสระหลังได้ เช่น อภินนฺทุ อิติ เป็น อภินนฺทุนฺติ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น