2/4/64

อภิภายตนะ ๘

    ในที่นี้หมายถึง ฌาน ที่มีชื่อว่า อภิภายตนะ มาจาก อภิภู (อภิ + ภู ธาตุ = ครอบงำ + กฺวิ) การครอบงำหรือธรรมที่ครอบงำ + อายตน (เหตุ และอายตนธรรม) มีความหมายที่อรรถกถาและฏีกาอธิบาย ดังนี้

(อรรถกถานัย)

    ๑.๑ ฌานที่เป็นทั้งการครอบงำและเป็นเหตุ. การครอบงำ คือ  ครอบงำปฏิปักขธรรม (นิวรณ์) และ อารมณ์ ส่วนเหตุ คือ เป็นเหตุแห่งความสุขของพระโยคี,

    ๑.๒ ฌานที่เป็นทั้งการครอบงำและเป็นอายตนะ การครอบงำ เหมือนนัยก่อน ส่วนความเป็นอายตนะ โดยความเป็นมนายตนะและธัมมายตนะ  ดังคัมภีร์อรรถกถาและฏีกาอธิบายว่า

    อภิภายตนานีติ อภิภวนการณานิฯ กิํ อภิภวนฺติ? ปจฺจนีกธมฺเมปิ อารมฺมณานิปิฯ ตานิ หิ ปฏิปกฺขภาเวน ปจฺจนีกธมฺเม อภิภวนฺติ, ปุคฺคลสฺส ญาณุตฺตริยตาย อารมฺมณานิ.

ฌานที่ชื่อว่า อภิภายตนานิ เพราะเป็นทั้งการครอบงำและเป็นเหตุ. ฌานเหล่านี้ครอบงำอะไร? ตอบ ครอบงำ ธรรมที่เป็นข้าศึกบ้าง อารมณ์บ้าง. ความจริง ฌานเหล่านั้นย่อมครอบงำธรรมที่เป็นข้าศึก โดยความเป็นปฏิปักษ์ และย่อมครอบงำอารมณ์ เพราะความที่บุคคลมีปัญญายิ่งแห่งบุคคล. (ที.ม.อ.๑๗๓)

    อารมฺมณาภิภวนโต อภิภุ จ ตํ อายตนญฺจ โยคิโน สุขวิเสสานํ อธิฏฺฐานภาวโต, มนายตนธมฺมายตนภาวโต วาติปิ สสมฺปยุตฺตํ ฌานํ อภิภายตนํฯ เตนาห ‘‘อภิภวนการณานี’’ติอาทิฯ

    ฌานพร้อมทั้งสัมปยุตธรรม ชื่อว่า อภิภายตนะ แม้เพราะเหตุนี้คือ ธรรมที่ครอบงำ เพราะครอบงำอารมณ์ ธรรมที่ครอบงำนั้น เป็นอายตนะ เพราะเป็นที่ตั้งของความสุขพิเศษของพระโยคี, อีกนัยหนึ่ง เพราะเป็นอายตนะคือมนายตนะและธัมมายตนะ. (ที.ม.ฏี.๑๗๓)

    โดยอรรถกถานัย อภิภายตนฌาน เป็นฌานที่ครอบงำโดยอาการ ๒ คือ ครอบงำนิวรณ์ เพราะเป็นปฏิปักขธรรมต่อกัน และครอบงำอารมณ์ เพราะพระโยคีผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีปัญญามาก. อันที่จริง แม้การครอบงำปฏิปักขธรรม ก็มีได้ด้วยกำลังแห่งญาณนั่นเทียว เช่นเดียวกับการครอบงำอารมณ์ ที่มีได้ด้วยกำลังแห่งญาณเหมือนกัน.

(ฏีกานัย)

๒. ฌานที่มีอภิภุ กล่าวคือ บริกรรม (นิมิต) หรือ ญาณ เป็นอายตนะ กล่าวคือ เหตุ.

    อภิภวตีติ อภิภุ, ปริกมฺมํ, ญาณํ วาฯ อภิภุ อายตนํ เอตสฺสาติ อภิภายตนํ, ฌานํฯ 

    สภาวะที่ครอบงำ ชื่อว่า อภิภุ, คือ บริกรรม, หรือ ญาณ. อภิภุ กล่าวคือ บริกรรมหรือญาณ เป็นอายตนะ (เหตุ) ของฌานนี้ เหตุนี้ ฌานนี้ ชื่อว่า อภิภายตนะ.(ที.ม.ฏี.๑๗๓)

๓. ฌานที่มีอารมณ์ที่จะพึงครอบงำเป็นอายตนะ คือ เหตุ

    อภิภวิตพฺพํ วา อารมฺมณสงฺขาตํ อายตนํ เอตสฺสาติ อภิภายตนํฯ (ที.ม.ฏี.๑๗๓)

    โดยฏีกานัย อภิภายตนะ เป็นชื่อของฌานอันประกอบไปด้วยเหตุ อันเป็นธรรมที่ใช้ครอบงำปฏิปักขธรรมและอารมณ์. ธรรมที่เป็นเหตุครอบงำนั้น คือ บริกรรม หรือ ญาณ. และเป็นฌานที่ประกอบด้วยอารมณ์ที่จะพึงถูกครอบงำ. อภิภายตนฌาน เป็นไป ๘ อย่างโดยเริ่มที่การครอบงำรูปกรรมฐานภายในที่เคยบรรลุเพื่อบรรลุรูปภายนอกที่ใหญ่กว่าเป็นต้น.

    ส่วนอรรถกถามหานิทเทสอธิบายสรุปว่า 

    อภิภายตนานนฺติ เอตฺถ อภิภูตานิ อายตนานิ เอเตสํ ฌานานนฺติ อภิภายตนานิ, ฌานานิฯ อายตนานีติ อธิฏฺฐานฏฺเฐน อายตนสงฺขาตานิ กสิณารมฺมณานิฯ ญาณุตฺตริโก หิ ปุคฺคโล วิสทญาโณติ กิํ เอตฺถ อารมฺมเณ สมาปชฺชิตพฺพํ, น มยิ จิตฺเตกคฺคตากรเณ ภาโร อตฺถีติ ตานิ อารมฺมณานิ อภิภวิตฺวา สมาปชฺชติฯ สห นิมิตฺตุปฺปาเทเนเวตฺถ อปฺปนํ นิพฺพตฺเตตีติ อตฺโถฯ เอวํ อุปฺปาทิตานิ ฌานานิ อภิภายตนานีติ วุจฺจนฺติฯ 

    ฌานเหล่านี้ ชื่อว่า อภิภายตนะ เพราะมีอารมณ์อันถูกครอบงำเป็นอายตนะ. คำว่า อายตนะ หมายถึง อารมณ์กล่าวคือกสิณ ที่เรียกว่า อายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง. เพราะบุคคลผู้มีญาณยิ่ง คือ มีปัญญาแก่กล้า ครอบงำอารมณ์เหล่านั้นเข้าฌานด้วยคิดว่า เราพึงเข้าในอารมณ์นี้หรือ, การกระทำให้เป็นจิตเป็นสมาธิไม่ใช่ของหนักสำหรับเรา. หมายความว่า ทำอัปปนาให้เกิดพร้อมกับการเกิดขึ้นแห่งนิมิตนั้นในอารมณ์นี้นั่นเทียว. ฌานที่พระโยคีให้เกิดในลักษณะนี้ เรียกว่า อภิภายตนะ.

***