15/12/56

๒๐ สระสนธิ : ทีฆะ : ทีฆะสระหน้า

๒) ทีฆะสระหน้า ทั้งในกัจจายนะและปทรูปสิทธิ แสดงสูตรไว้ว่า
         ปุพฺโพ จ  กัจจ. 16 รูป. 18 
         เมื่อลบสระหลังแล้ว ในบางอุทาหรณ์ สระหน้าเป็นทีฆะ ได้อีกด้วย.
อธิบาย  สูตรนี้ ให้ทำทีฆะสระหน้า เมื่อได้ลบสระหลังแล้ว. ถึงแม้ในตัวสูตรจะไม่ได้บอกว่า ต้องลบสระหน้า แต่เราก็ทราบได้ว่า ต้องลบสระหน้าไป ด้วย จ ศัพท์ ที่มีความหมายว่า ดึงมา ซึ่งในสูตรนี้ดึงเอาคำว่า ลบสระหน้าและทีฆะ มาจากสูตรก่อน ๆ
มาอีก.  ก็ด้วย จ ศัพท์ นั้นทำให้การลบและทีฆะในสรสนธิหมดลงแค่นี้ ไม่ตามไปในสูตรต่อไปอีก. (ในสัททนีติไม่ได้แสดงสูตรเกี่ยวกับการทีฆะสระหน้าไว้)
อุทาหรณ์.
โลกสฺส + อิติ เป็น โลกสฺสาติ
เทว + อิติ เป็น เทวาติ
วิ + อติ + ปตนฺติ เป็น วีติปตนฺติ
ชีวิตเหตุ + อปิ เป็น ชีวิตเหตูปิ
วิ + อติ+นาเมนฺติ เป็น วีตินาเมนฺติ
สํฆาฏิ + อปิ เป็น สํฆาฏีปิ
วิชฺชุ + อิว เป็น วิชฺชูว
กึ + สุ + อิธ + วิตฺตํ เป็น กึสูธ วิตฺตํ
สาธุ + อิติ เป็น สาธูติ



แม้ในแบบเรียน ฯ ก็แสดงทีฆะไว้โดยเช่นนี้เหมือนกันแล.

๑๙ สระสนธิ : ทีฆะ : ทีฆะสระหลัง

๓. ทีฆสรสนธิ ทำให้เป็นเสียงยาว ในแบบเรียนแสดงไว้ว่า มี ๒ เช่นกัน คือ
ทีฆะสระหลังและทีฆะสระหน้า.
         ๑) ทีฆะสระหลัง[1] ใน กัจจายนะและรูปสิทธิ แสดงสูตรว่า
         กัจจ. 15 (รูป. 17) ทีฆํ.
         เมื่อลบสระหน้าแล้ว สระหลังเป็นทีฆะได้บ้างในบางอุทาหรณ์.
อธิบาย สูตรนี้ ให้ทำทีฆะสระหลัง เมื่อลบสระหน้าแล้ว.  แต่ทั้งนี้ต้องทำให้เป็นวัณณะเดียวกับรัสสสระดังนี้ คือ อ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็นอู เพราะว่า สระที่เป็นรัสสะกับทีฆะนั้น มีฐานเหมือนกัน แต่ท่านใช้สำนวนว่า มีฐานใกล้กัน ข้อนี้ สมดังที่ปกรณ์ปทรูปสิทธิพรรณนาไว้ในวุตติของสูตรนี้ว่า เมื่อสระหน้าถูกลบแล้ว สระอันเป็นเบื้องหลัง ย่อมถึงความเป็นทีฆะ เพราะเหตุนั้น ทีฆะอันเป็นสวัณณะ ของรัสสสระทั้งหลาย จึงมีได้ด้วยสามารถแห่งความใกล้กันแห่งฐาน 
อุทาหรณ์.

พุทฺธ + อนุสฺสติ เป็น พุทฺธานุสฺสติ
ส + อตฺถิกา เป็น สาตฺถิกา
สญฺญา วา + อสฺส เป็น สญฺญาวาสฺส
ตทา + อหํ เป็น ตทาหํ
ยานิ + อิธ เป็น ยานีธ
คจฺฉามิ + อิติ เป็น คจฺฉามีติ
อติ + อิโต เป็น อตีโต
กิกี + อิว เป็น กิกีว
พหุ + อุปการํ เป็น พหูปการํ
มธุ + อุทกํ เป็น มธูทกํ
สุ + อุปธาริตํ เป็น สูปธาริตํ
โยปิ + อยํ เป็น โยปายํ
อิทานิ + อหํ เป็น อิทานาหํ
สเจ + อยํ เป็น สจายํ
อปฺปสฺสุต + อยํ เป็น อปฺปสฺสุตายํ
อิตร + อิตเรน เป็น อิตรีตเรน
สทฺธา + อิธ เป็น สทฺธีธ
กมฺม + อุปนิสฺสโย เป็น กมฺมูปนิสฺสโย
ตถา + อุปมํ เป็น ตถูปมํ
รตฺต + อุปรโต เป็น รตฺตูปรโต

ข้อยกเว้น ในปทรูปสิทธิ และสัททนีติ บอกว่า ด้วยคำว่า ได้บ้าง แสดงให้ทราบว่า ในบางอุทาหรณ์ ก็ถูกยกเว้นไม่ต้องทำเป็นทีฆะ เช่น วตยํ, กิมฺปิมาย, ตีณิมานิ, ปญฺจสุปาทานกฺขนฺเธน, ตสฺสตฺโถ, ปญฺจงฺคิโก, มุนินฺโท, สตินฺทฺริยํ เป็นต้น
         ส่วนคำว่า สระที่ถูกลบแล้ว ก็คือ ถ้าไม่มีการลบ ก็ไม่ต้องทำทีฆะด้วยสูตรนี้.
         อนึ่ง ในสัททนีติแสดงการทีฆะสระหลัง[2]ว่า เมื่อศัพท์หลังเป็นพยัญชนะสังโยค ลบสระหน้าแล้ว มีการทีฆะสระหลังได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
         41. น มา ทา วา สฺมา ตฺร ณฺหา ตฺวาทีนํ สรโลเป อยฺยญฺญคฺฆสฺสุสฺสานมกาโร ทีฆํ.
            เมื่อลบสระหน้า อันเป็นส่วนแห่ง น มา ทา วา สฺมา ตฺร ณฺหา ตฺวา ศัพท์เป็นต้นแล้วให้ทีฆะ อ แห่ง อยฺย อญฺญ อสฺสุ อสฺส ข้างหลังเป็นอา เช่น

น อยฺโย เป็น นายฺโย
น อญฺญมญฺญสฺส เป็น นาญฺญมญฺญสฺส
น อคฺฆนฺติ เป็น นาคฺฆนฺติ
น อสฺสุธ เป็น นาสฺสุธ
น อสฺส เป็น นาสฺส
มา อยฺโย เป็น มายฺโย
มา อสฺสุ เป็น มาสฺสุ
ตทา  อสฺสุ เป็น ตทาสฺสุ
กทา อสฺสุ เป็น กทาสฺสุ
วา อสฺส เป็น วาสฺส
ตสฺมา อสฺส เป็น ตสฺมาสฺส
ตตฺร อสฺส เป็น ตตฺราสฺส
ตณฺหา อสฺส เป็น ตณฺหาสฺส
กตฺวา อตฺร เป็น กตฺวาตฺร
           
            42. สสฺส กฺวจนฺตตฺถานํ
            เมื่อลบสระแห่ง ส ที่อยู่หน้าแล้ว ทีฆะอ แห่ง อนฺต และอตฺถ ศัพท์ที่อยู่หลังบ้าง.เช่น
ส อนฺเตวาสิโก เป็น สานฺเตวาสิโก
ส อตฺถํ เป็น สาตฺถํ
ส อตฺถิกา เป็น สาตฺถิกา

ยกเว้น บางศัพท์ ไม่ทีฆะก็มี เช่น ส อตฺโถ เป็น สตฺโถ.

ข้อยกเว้นของการไม่ต้องทีฆะ เกี่ยวกับพยัญชนะสังโยคตัวหลัง
         37. น สํโยคปุพฺโพ วินา อการิกฺเขหิ ตพฺภาวํ
         เมื่อลบสระหน้าแล้ว สระหลังของตัวหน้าของสังโยค ไม่เป็นอสวัณณะและทีฆะ ยกเว้น อ อักษรและ อิกฺข ศัพท์ เป็นได้.
         หมายความว่า ในบางคำเช่น คำว่า โลก + อุตฺตรํ เมื่อลบ อ ที่โลก ศัพท์แล้ว สระอุ ที่ อุตฺตรํ ซึ่งอยู่หน้า ตฺตร อันเป็นพยัญชนสังโยค ไม่ต้องเป็น เอโอ และ ไม่ต้องทีฆะเป็น อู ดังนี้. ในคำว่า ยสฺส อินฺทฺริยํ เป็น ยสฺสินทฺริยํ และคำว่า สทฺธา + อินฺทฺริยํ เป็น
สทฺธินฺทฺริยํ ก็มีนัยเช่นนี้.
         ท่านอนุญาตให้ทำเป็นอสวัณณะและทีฆะได้เฉพาะ อ อักษร และอิกฺขศัพท์ เช่น สญฺญา + วา + อสฺส เป็น สญฺญาวาสฺส และ อุป + อิกฺขติ เป็น อุเปกฺขติ.
         เนื้อหาของสูตรนี้ กินความไปถึงการห้ามความเป็น เอ และ โอ ของ วิการสนธิในตอนต้นด้วย ขอให้นักศึกษาย้อนกลับไปดูในสูตรดังกล่าวนั้นอีก.



[1] ทั้งในสัททนีติ กัจจายนะและรูปสิทธิ ต่างก็ยกสูตรมาแสดงไว้โดยนัยที่คล้ายคลึงกัน หากจะแสดงไว้ทั้งหมดก็จะพาฟั่นเผือ จึงแสดงไว้โดยเฉพาะแต่ที่มาในกัจจายนะและคำอธิบายในปทรูปสิทธิเท่านั้น.แม้ในที่อื่น ๆ ก็มีนัยเช่นนี้.
[2] ในสัททนีตินั้น ท่านแสดงสูตรเกี่ยวกับอุทาหรณ์เฉพาะศัพท์ไว้หลายสูตร ทั้งนี้เป็นเพราะท่านได้ตรวจสอบพระบาลีมากขึ้นนั่นเอง เมื่อตรวจสอบมากขึ้น ก็ย่อมพบอุทาหรณ์เฉพาะศัพท์เพิ่มขึ้นอีกเป็นธรรมดา. นับว่าเป็นการแสดงข้อปลีกย่อย จึงนำมาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเพิ่มพูนความเป็นพหูสูตแก่นักศึกษา. ส่วนหลักเกณฑ์กว้าง ๆ จะต้องจดจำในกัจจายนะและปทรูปสิทธิให้ได้.

29/10/56

๑๘ สระสนธิ วิการสนธิ

          ๒.  วิการสรสนธิ การทำให้ผิดไปจากของเดิม.   ในแบบเรียนท่านแสดงว่ามี ๒ นัย คือ วิการในเบื้องปลาย และวิการในเบื้องต้น
         ๑) วิการในเบื้องปลาย มีสูตรและวิธีการทำสนธิ ตามที่คัมภีร์กัจจายนะ แสดงไว้ในสูตรว่า
         กฺวจาสวณฺณํ ลุตฺเต (กัจจ. 14, รูป. 16)
         เมื่อสระหน้า ถูกลบแล้ว, สระหลัง เป็นสระอสวัณณะบ้าง.
อธิบาย. เมื่อสระหน้าที่มีรูปไม่เหมือนกัน (คือ มีวัณณะต่างกัน กับสระหลังที่เป็น อิ อี และ อุ ได้แก่ อ อา) ถูกลบไปแล้ว สระหลัง ที่เป็น อิวัณณะ (อิ อี) และอุ จะเปลี่ยนเป็น อสวัณณะ (สระที่มีเสียงต่างกัน คือ ไม่มีฐานและกรณ์ที่เหมือนกัน) คือ  เอ โอ หมายความว่า อิ อี จะเป็น เอ,  อุ จะเป็น โอ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า อิ อี กับ เอ, อุ กับ โอมีฐานเสียงที่ใกล้เคียงกัน.
ศัพท์เหล่านี้เป็นอาเทสสรสนธิ
พนฺธุสฺส + เอว เป็น พนฺธุสฺเสว
ยถา + อุทเก เป็น ยโถทเก
อุป + อิกฺขติ  เป็น อุเปกฺขติ
ชิน + อีริตํ เป็น ชิเนริตํ
อุป + อิโต เป็น อุเปโต
น + อุเปติ  เป็น โนเปติ
อว + อิจฺจ เป็น อเวจฺจ
จนฺท + อุทโย เป็น จนฺโททโย
ข้อยกเว้น
         ในบางอุทาหรณ์ คือ ตตฺริเม, ยสฺสินฺทฺริยานิ, มหิทฺธิโก, สพฺพีติโย, เตนุปสงฺกมิ, โลกุตฺตโร.   ไม่ต้องวิการ อิ เป็น เอ และอุ เป็น โอ. 
         หมายความว่า เมื่อเข้าเกณฑ์สูตรนี้ได้ ก็ใช่ว่าจะต้องมีการทำเป็น เอ โอ ไปเสียทุกบทไป. เพราะบางบทถ้าทำไปก็อาจจะขัดต่อพระพุทธพจน์ได้.
         คำว่า ลุตฺเต ลบแล้ว มีประโยชน์ในการห้ามทำเป็น เอ โอ ในที่ไม่ได้ลบสระ.
            หมายความว่า ถ้าในบทที่ยังไม่ได้ลบสระ ก็ไม่เข้าเกณฑ์ของสูตรนี้ เช่นในอุทาหรณ์นี้ว่า "ฉ อิเม ธมฺมา,  ยถา อิทํ , กุสลสฺส อุปสมฺปทา"
         คำว่า อสรูเป มีรูปไม่เหมือนกัน มีประโยชน์ในการห้ามทำเป็น เอ โอ ในที่มีสรูปสระ (สระอันมีวัณณะเสมอกัน).
            หมายความว่า ในที่เป็นสรูปะกัน ห้ามทำเป็น เอ โอ คือ ถ้าสระหน้า ก็เป็น อิ หรือ อุ เหมือนกัน ไม่เข้าเกณฑ์สูตรนี้ เช่น จตฺตาริ อิมานิ เป็น จตฺตาริมานิ, มาตุ อุปฏฺฐานํ เป็น มาตุปฏฺฐานํ
         ส่วนในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ก็มีนัยเช่นนี้.

         ๒) วิการในเบื้องต้น ในกัจจายนะและปทรูปสิทธิ มิได้แสดงไว้ แต่ในสัททนีติท่านแสดงสูตรไว้ว่า
         35. สเร  ปุพฺโพ
         เมื่อลบสระหลังแล้ว เอาสระหน้าเป็นสระอสวัณณะได้บ้าง.
อธิบาย สูตรนี้ เมื่อลบสระต้นของบทหลังแล้ว จึงวิการสระท้ายของบทหน้าเป็น เอ โอ ได้บ้าง. เช่น ในคำว่า มุนิ + อาลโย เป็น มุเนลโย ,  รถี + อุสโภ เป็น รเถสโภ,  สุ + อิตฺถี
เป็น โสตฺถี (หญิงงาม)
         และด้วยคำว่า ได้บ้าง นี้ ในบางอุทาหรณ์ก็ไม่แปลงเป็น เอ โอ เช่น  อุจฺฉุ + อิว เป็น อุจฺฉุว.

         ส่วนในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ก็มีนัยเช่นนี้.

21/10/56

๑๗. ศึกษาเปรียบเทียบกับที่มาในหนังสือแบบเรียนบาลีไวยากรณ์

ส่วนในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ท่านแสดงไว้ ดังนี้คือ
         “โลปะ ที่ต้นมี ๒ คือ ลบสระหน้า ๑ ลบสระหลัง ๑
         สระที่สุดของศัพท์หน้า เรียกว่า สระหน้า, 
         สระหน้าของศัพท์หลัง เรียกว่า  สระหลัง.
         เมื่อสระทั้ง ๒ นี้ ไม่มีพยัญชนะอื่นคั่นในระหว่าง ลบได้ตัวหนึ่ง.  ถ้าพยัญชนะอื่นคั่นในระหว่าง ลบไม่ได้.
         ลบสระเบื้องต้น ท่านวางอุทาหรณ์ไว้ดังนี้
         ยสฺส อินฺทฺริยานิ,  ลบสระหน้า คือ อ ในที่สุดแห่งศัพท์ ยสฺส เสีย สนธิเป็น ยสฺสินฺทฺริยานิ,
         โนหิ เอตํ ลบสระหน้า คือ อิ ที่สุดแห่ง ศัพท์ โนหิ เสีย สนธิเป็น โนเหตํ.
         สเมตุ อายสฺมา ลบสระหน้า คือ อุ ที่สุดแห่งศัพท์ สเมตุ เสีย สนธิ เป็น สเมตายสฺมา.
         ในอุทาหรณ์เหล่านี้
         สระหน้าเป็นรัสสะ สระเบื้องปลายอยู่หน้าพยัญชนะสังโยคบ้าง เป็นทีฆะบ้างจึงเป็นแต่ลบสระหน้าอย่างเดียว.
         ถ้าสระทั้งสอง เป็นรัสสะ มีรูปเสมอกัน คือ เป็น อ หรือ อิ หรือ อุ ทั้ง ๒ ตัว เมื่อลบแล้ว ต้องทำสระที่ไม่ได้ลบด้วยทีฆะสนธิที่แสดงไว้ข้างหน้า เหมือนอุ.ว่า ตตฺร อยํ เป็น ตตฺรายํ เป็นต้น.
         ถ้าสระทั้ง ๒ เป็นรัสสะ แต่มีรูปไม่เสมอกัน คือ ข้างหนึ่งเป็น อ ข้างหนึ่งเป็น อิ หรือ อุ ก็ดี ข้างหนึ่งเป็น อิ ข้างหนึ่งเป็น อุ หรือ อ ก็ดี ข้างหนึ่งเป็น อ หรือ อิ ก็ดี ไม่ต้องทีฆะก็ได้ เหมือน อุ. ว่า จตูหิ อปาเยหิ เป็น จตูหปาเยหิ เป็นต้น.
         ถ้าสระหน้า เป็น ทีฆะ สระเบื้องปลายเป็นรัสสะ ถ้าลบแล้วต้องทีฆะสระหลัง เหมือน อุ. ว่า สทฺธา อิธ เป็น สทฺธีธ เป็นต้น.
         เมื่อว่าโดยสังเขป -
         ถ้าลบสระสั้นที่มีรูปไม่เสมอกัน ไม่ต้องทีฆะสระสั้นที่ไม่ได้ลบ.
         ถ้าลบสระยาวหรือสระสั้นที่มีรูปเสมอกัน ต้องทีฆะสระสั้นที่ไม่ได้ลบ
         ถ้าสระ ๒ ตัวมีรูปไม่เสมอกัน ลบสระเบื้องปลายบ้างก็ได้ อุ. ว่า จตฺตาโร อิเม ลบสระอิ ที่ศัพท์ อิเม เสีย สนธิกันเป็น จตฺตาโรเม, กินฺนุ   อิมา ลบสระอิ ที่ศัพท์ อิมา เสีย สนธิกันเป็น กินฺนุมา,
         นิคฺคหิตอยู่หน้า ลบสระเบื้องปลายได้บ้าง อุ. ว่า อภินนฺทุ อิติ เป็น อภินนฺทุนฺติ.
            สรุปเป็นกฎเกณฑ์ได้ดังนี้
การลบสระหน้า
         ๑. สระหน้าต้องเป็นรัสสสระ สระหลังต้องเป็นทีฆะ หรือไม่ก็อยู่หน้าพยัญชนะสังโยค เช่น ยสฺส อินฺทฺริยานิ เป็น ยสฺสินทฺริยานิ.
         ๒. ถ้าทั้งสระหน้าและสระหลังเป็นรัสสะทั้งคู่ และมีรูปเดียวกัน คือ เป็น อ อิ อุ เหมือนกัน เมื่อลบสระหน้าไปแล้ว ต้องทีฆะสระหลัง เช่น ตตฺร อยํ  เป็น ตตฺรายํ.
         ๓. ถ้าสระหน้าและสระหลังเป็นรัสสะทั้งคู่ แต่มีรูปต่างกัน เช่น เป็น หน้าเป็น อ หลังเป็น อิ ลบสระหน้าแล้วไม่ต้องทีฆะสระหลัง เช่น จตูหิ อปาเยหิ เป็น จตูหปาเยหิ.
         ๔. ถ้าสระหน้าเป็นทีฆะ สระหลังเป็นรัสสะ ลบสระหน้าแล้วต้องทีฆะสระหลัง
เช่น สทฺธา อิธ เป็น สทฺธีธ.
การลบสระหลัง
         ๑. ถ้าสระ ๒ ตัว มีรูปไม่เสมอกัน ลบสระหลังได้บ้าง เช่น จตฺตาโร อิเม เป็น
จตฺตาโรเม.

         ๒. นิคคหิตอยู่หน้า ลบสระหลังได้ เช่น อภินนฺทุ อิติ เป็น อภินนฺทุนฺติ.

๑๖. สรสนธิ โลปสรสนธิ - ๒) เชื่อมบทโดยลบสระหลัง

๒)  ลบสระหลัง เพราะสระหน้าที่มีรูปต่างกัน เช่น  อ กับ อิ เป็นต้น ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า
         วา  ปโร  อสรูปา  (กัจจ 13 รูป.15)
         สระ อันเป็นเบื้องหลัง จากสระ อันมีรูปต่างกัน ย่อมถึงการลบไปได้บ้าง.
อธิบาย
            สูตรนี้เป็นวิธีลบสระหลัง เพราะมีสระอยู่หน้า
     คำว่า สระอันมีรูปต่างกัน (อสรูปะ) ได้แก่ สระที่ต่างกันโดยฐานและกรณ์.  ในทางไวยากรณ์มีการจัดแบ่งวัณณะ หรือ คู่อักษรใช้แทนเสียง ไว้ดังนี้ อ อา เป็น อวัณณะ, อิ อี เป็น อิวัณณะ, อุ อู เป็น อุวัณณะ.  ดังนั้น อ และอา เป็น สวัณณะกัน คือ มีวัณณะเหมือนกันโดยฐานและกรณ์,  สระนอกนี้ เป็น อสวัณณะกับ อ อา, สำหรับ อิ อี,  อุ อู ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน. ส่วนเอ และ โอ ไม่ได้จัดเป็นวัณณะใดเลย เพราะมีฐานและกรณ์ไม่เหมือนกับสระอื่น. สรุปได้ว่า อ อา อิ อี อุ อู   มีเสียงอื่นซึ่งไม่เหมือนตน เรียกว่า เป็นอสรูปะ เช่น อ มี อิ อี อุ อู เอ โอ . นั่นก็คือ หลังจาก อ หรือ อา ลบ สระ อิ อี อุ อู เอ โอ,  หลังจาก อิ หรือ อี ลบ อ อา อุ อู  เอ โอ ได้ดังนี้เป็นต้น. หลังจาก เอ และ โอ ลบได้ ก็โดยนัยเช่นนี้ คือ หลังจาก อ ลบ อ อา อิ อี อุ อู และโอ. แต่ในสัททนีติ ท่านกล่าวว่า ระหว่าง เอ กับ เอ, โอ กับ โอ ก็เป็นอสรูปะกัน ฉะนั้น หลังจากเอ ก็ลบ เอ, หลัง โอ ก็ลบ โอได้ด้วย.
    คำว่า ได้บ้าง (วา ศัพท์) นี้ เป็นตัวกำหนดให้เห็นว่า การทำสรสนธิด้วยวิธีลบสระหลังนี้ปรากฏใช้ได้บ้างในบางศัพท์ มิใช่ในทุกศัพท์. คือมีข้อยกเว้นบ้างในบางศัพท์ เช่น 
     ปญฺจินฺทฺริยํ มาจาก ปญฺจ + อินฺทฺริยํ ไม่เป็น ปญฺจนฺทฺริยํ ตามสูตรนี้ เพราะในพระไตรปิฎกปรากฏว่ามีแต่รูป ปญฺจินฺทฺริยํ ซึ่งใช้สูตร สรา สเร โลปํ ทำสนธิ.
         


ศัพท์เหล่านี้เป็นโลปสรสนธิ โดยการลบสระหลัง


ยสส + อิทานิ   เป็น  ยสฺสทานิ
สญฺญา + อิติ  เป็น สญฺญาติ
ฉายา + อิว เป็น ฉายาว
กถา + เอว เป็น กถาว
อิติ + อปิ เป็น อิติปิ
อสฺสมณี + อสิ เป็น อสฺสมณีสิ
อกตญฺญู + อสิ เป็น อกตญฺญูสิ
อากาเส + อิว เป็น อากาเสว
เต + อปิ  เป็น เตปิ
วนฺเท + อหํ เป็น วนฺเทหํ
โส + อหํ  โสหํ
จตฺตาโร + อิเม เป็น จตฺตาโรเม
วสโส + อสิ เป็น วสโลสิ
โมคฺคลาโน + อาสิ เป็น โมคฺคลาโนสิ
ปาโต + เอว  เป็น ปาโตว
จกฺขุ + อินฺทฺริยํ เป็น จกฺขุนฺทฺริยํ*