21/10/56

๑๔ สนธิกิริโยปกรณ์ วิธีเชื่อมบท


สนธิกิริโยปกรณ์ วิธีเชื่อมบท
         ในคัมภีร์สัททนีติ กล่าวว่า ปุพฺพปราทีนิ สนฺธิกิริโยปกรณํ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือในการประกอบสนธิมี ปุพพะ ประ เป็นต้น ชื่อว่า สนธิกิริโยปกรณ์.
            สนธิกิริโยปกรณ์ ในแบบเรียนฯ แสดงไว้ ๘ อย่าง คือ
         ๑. โลโป  ลบ
         ๒. อาเทโส แปลง
         ๓.  อาคโม  ลงตัวอักษรใหม่
         ๔.  วิกาโร  ทำให้ผิดไปจากของเดิม
         ๕.  ปกติ  ปกติ
         ๖.   ทีโฆ  ทำให้ยาว
         ๗.  รสฺสํ  ทำให้สั้น
         ๘.  สญฺโญโค  ซ้อนตัว
คัมภีร์สัททนีติ แสดงไว้ ๑๐ อย่าง คือ
        ๑.  ปุพฺพ  ได้แก่ พยางค์ที่ออกเสียงก่อนพยางค์อื่น (เสียงหรือพยางค์หน้า)
        ๒.  ปร ได้แก่ พยางค์ที่ออกเสียงภายหลัง (เสียงหรือพยางค์หลัง)
       ๓.  โลปะ การลบได้แก่ ความพินาศแห่งอักษรที่มีอยู่, อีกนัยหนึ่ง ความหมายของถ้อยคำใด ยังคงมีอยู่ แต่รูปไม่มีรูปศัพท์ ก็ชื่อว่า โลปะ
       ๔. อาคม  ลงตัวอักษรใหม่ ได้แก่ การเพิ่มตัวอักษรมาจากส่วนอื่นที่มีอยู่แล้ว
      ๕. สังโยค ซ้อนตัว ได้แก่ การรวมพยัญชนะ ๒, ๓ ตัวที่ไม่มีสระคั่น เข้าด้วยกัน.
      ๖.  วิโยค ได้แก่ การแยกพยัญชนะออกจากสระ
      ๗.  ปรนยนะ  การนำตัวหน้าเข้าหาตัวหลัง
      ๘.  วิปริยยะ  การสลับตำแหน่งของอักษรจากอักษรหน้าเป็นอักษรหลัง.
      ๙.  วิการ  การผันตัวอักษรหนึ่งเป็นอีกตัวอักษรหนึ่ง และการเป็นสังโยคจากอักษรตัวเดียว เช่น อิ อี เป็น เอ, อุ อู เป็น โอ. กฺ เป็น กฺก
     ๑๐. วิปรีตะ การเปลี่ยนพยัญชนะให้เป็นสระหรือพยัญชนะ และการเปลี่ยนสระให้เป็นสระอื่น   เช่น เปลี่ยน เอ กลับเป็น อิ, เปลี่ยน โอ กลับ เป็นอุ.
อีกนัยหนึ่ง โอ อักษรก็เป็นวิปรีตะ เพราะมาจาก อว ศัพท์และอุวัณณะ (อุ อู)   ก็เป็นวิปรีตะ โดยวิปริตมาจาก อว ศัพท์เช่นกัน.
           บรรดาสนธิกิริโยปกรณ์ ๑๐ ที่มาในคัมภีร์สัททนีตินั้น ควรทราบวิธีการพื้นฐานในการเชื่อมบท ดังนี้
      ๑. ผู้ศึกษาควรรู้จักบทที่จะนำเข้าสนธิ ซึ่งประกอบด้วยบทหน้า (ปุพพะ) และ บทหลัง (ประ) ก่อน เพราะเป็นวิธีแรกสุดในการทำสนธิ.
     ๒. ลำดับต่อไปเป็น คือ แยกพยัญชนะออกจากสระ แล้วตั้งไว้เป็นส่วนหน้า หลังจากนั้น (วิโยค) ให้ทำโดยสนธิกิริโยปกรณ์ข้ออื่น มี โลปะ ลบเป็นต้น.
      ๓. ลำดับต่อไปเป็น การนำพยัญชนะหน้าที่ไม่มีสระไปประกอบกับสระตัวหลังอันเป็นวิธีจึงทำวิธีที่ควรจะทำ คือ แยกพยัญชนะออกจากสระเสียก่อน (ปรนยนะ)
       สรุปได้ว่า  วิธีการตั้งชื่อสระให้เป็นบทหน้า (ปุพพะ) เป็นบทหลัง (ประ) เป็นอุปกรณ์อย่างแรก.  ส่วน การแยกพยัญชนะออกจากตัวหลัง (วิโยคะ) และ การนำตัวหน้าเข้าหาตัวหลัง (ปรนยนะ) เป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานที่ต้องทำในสนธิทั้งปวง.
         เกี่ยวกับวิธีการเช่นนี้ ในสัททนีติท่านแสดงไว้เป็นขั้นตอนการทำสนธิว่า
     “ลำดับแรก บัณฑิต พึงตั้งบทหน้าและบทหลังที่จะทำสนธิไว้ก่อน. ลำดับนั้น พึงทำวิธีที่ควรกระทำ (มีการแยกพยัญชนะออกจากสระเป็นต้น) ในกรณีที่มีสระอยู่หลัง, ต่อจากนั้น พึงนำไปประกอบเข้าหากัน.
         ๒๘. สรา วิโยชเย พฺยญชนํ, ตญฺจสฺส ปุพฺเพ ฅเปยฺย
         กุลบุตรผู้ใคร่เพื่อจะทำการสนธิ, ยังพยัญชนะพึงให้แยกออกจากสระและพึงตั้งไว้ซึ่งพยัญชนะนั้น ในเบื้องหน้าด้วย.
         ในการตั้งบทหน้าและบทหลังนั้น เมื่อสระถูกปกปิดด้วยพยัญชนะ กิจที่ควรทำด้วยวิธีของสนธิ ย่อมไม่สำเร็จเหมือนดาบที่ถูกหุ้มไว้ด้วยฝัก ย่อมไม่สามารถสำเร็จการฟันได้ ฉะนั้น, ดังนั้น ผู้ประสงค์จะทำสนธิ พึงทำการตัดบทในที่แห่งปทสนธิ มี ตตฺรายํ เป็นต้น ด้วยนัยเป็นต้นว่า ตตฺร + อยํ, ส่วนในที่แห่งวัณณสนธิ มีสาหุ, เอกสตํ, ขตฺยา เป็นต้น พึงตั้งรูปเดิมของบทมี สาธุ เอกสตํ ขตฺติยา แล้วพึงแยกพยัญชนะออกจากสระและวางพยัญชนะนั้นไว้ก่อนสระนั้น.
         ๒๙ เนตพฺพมสฺสรํ ปรกฺขรํ นเย 
         พึงนำไปซึ่งพยัญชนะที่ไม่มีสระ ที่สมควรจะนำไปสู่อักษรตัวหลัง. เช่น สหุปฺปตฺติ การเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นต้น(สัทท. แปล หน้า ๓๔)
         นอกจากนี้ ในคัมภีร์กัจจายนะ ก็ยังแสดงสูตรไว้ว่า
         ๑๐.  ปุพฺพมโธฐิตมสฺสรํ สเรน วิโยชเย
         พึงแยกพยัญชนะจากสระ ทำให้ไม่มีสระและตั้งไว้ส่วนหน้า.[๑] เช่น โก แยก กฺ ออกจาก โอ, เอตํ แยก ตฺ ออกจาก อํ.
         ๑๑. นเย  ปรํ  ยุตฺเต
         นำพยัญชนะหน้าที่ไม่มีสระเข้าหาตัวหลังตามที่เข้ากันได้. เช่น เอตํ + อโวจ = เอตทฺ + อโวจ = เอตทโวจ
         แต่ในแบบเรียนไวยากรณ์ไม่ได้แสดงไว้แบบนี้  อาจเป็นเพราะท่านตัดวิธีการเหล่านี้ซึ่งเป็นวิธีการพื้นฐานที่นักศึกษาจะต้องรู้กันอยู่แล้วก็ได้.  อย่างไรก็ตาม ในการทำสนธิทุกประเภทต้องมีวิธีการเช่นนี้เสมอ.


[๑] คำว่า อโธฐิตํ ที่แปลตรงตัวว่า ให้ตั้งไว้ข้างล่าง กล่าวคือ ส่วนหน้านี้ เป็นรุกฺขารุฬฺหนย (นัยดุจการขึ้นต้นไม้) เวลาที่เราขึ้นต้นไม้ ส่วนที่เราผ่านมาแล้วเป็นข้างล่าง ส่วนที่ยังเหลืออยู่เป็นข้างบน ฉันใด, เวลาที่เราอ่านหนังสือ ส่วนที่อ่านผ่านมาแล้ว ก็เรียกว่า ข้างล่าง ส่วนที่ยังไม่ถึง เรียกว่า ข้างบน ก็ฉันนั้น. คำว่า ข้างล่างในที่นี้ ก็คือข้างหน้า หรือทางด้านซ้ายมือนั่นเอง ฉะนั้น เวลาแยกพยัญชนะออกจากสระ ให้ตั้งพยัญชนะไว้ข้างหน้าสระอย่างนี้คือ โลกฺ  อ  อคฺคปุคฺคโล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น