5/4/57

๒๕.อาเทส อิ อี เป็น ย

๕. อาเทสสรสนธิ ได้แก่ การเข้าสนธิโดยการแปลงสระเป็นพยัญชนะ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการลบสระหลังแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ให้นักศึกษาสังเกตด้วยว่า การเกิดการแปลงหรืออาเทสได้นั้น จะต้องมีการลบสระหลังเท่านั้น.   
         ในแบบเรียนไวยากรณ์ ฯ ท่านกล่าวว่า
         ๒๐. อาเทโส มี ๒ แปลงสระเบื้องหน้า๑ แปลงสระเบื้องหลัง ๑
         แปลงสระเบื้องหน้าดังนี้
         ถ้า อิ เอ หรือ โอ อยู่ข้างหน้า มีสระอยู่เบื้องหลัง ให้
         - แปลง อิ ตัวหน้า เป็น ย   ถ้ามีพยัญชนะซ้อนกัน ๓ ตัว ลบพยัญชนะที่มีรูปเสมอกันเสียตัวหนึ่ง อุ. ปฏิสณฺฐารวุตฺติ อสฺส เป็น ปฏิสณฺฐารวุตฺยสฺส, อคฺคิ อาคารํ เป็น
อคฺยาคารํ,
         - เอา เอ เป็น ย เช่นอุ. ว่า เต อสฺส เป็น ตฺยสฺส ได้ในคำว่า ตฺยสฺส ปหีนา โหนฺติ. เม อยํ เป็น มฺยายํ ได้ในคำว่า อธิคโต โข มฺยายํ ธมฺโม, เต อหํ เป็น ตฺยาหํ ได้ในคำว่า ตฺยาหํ เอวํ วเทยฺยํ,
         - เอาโอ เป็น ว อุ.ว่า อถโข อสฺส เป็น อถขฺวสฺส
         - เอา อุ เป็น ว  อุ. ว่า พหุ อาพาโธ เป็น พหฺวาพาโธ, จกฺขุ อาปาถํ เป็น จกฺขฺวาปาถํ.
         วิธีการเช่นนี้ พ้องด้วยมติในคัมภีร์กัจจายนะ สัททนีติ และโมคคัลลานไวยากรณ์ดังนี้ คือ
 - แปลง อิ เป็น ย ในกัจจายนะและปทรูปสิทธิ แสดงไว้ว่า
         กัจจ. 21 รูป. 21 อิวณฺโณ ยํ นวา
                 ในเพราะสระ อันเป็น อสรูปะ อันเป็นเบื้องหลัง อิวัณณะ อันอยู่ข้างหน้า
            ย่อมถึงความเป็น ย อักษร (นวา) ได้บ้าง.
         สัทท. 51 ยมิวณฺโณ นวา
                 ในเพราะสระอันเป็นเบื้องหลัง, อิวัณณะ อันเป็นเบื้องหน้า ย่อมถึงความ            เป็น ย อักษร ในบางที่
อธิบาย. ในปทรูปสิทธิ แสดงว่า เพราะมีสระอันเป็นสรูปะ (มีรูปไม่เหมือนกัน คือ อ อา อุ อู เอ โอที่ไม่เหมือนกับ อิวัณณะ คือ อิ อี) เป็นอักษรต้นบทหลัง จึงสามารถอาเทศ อิ อี ที่เป็นอักษรท้ายของบทข้างหน้าเป็น ย ได้.  สระ อิ นั่นเอง เป็น อิวัณณะ. เมื่อกล่าวเช่นนี้ ฟังดูคล้ายกับว่า ท่านระบุเอา สระ อิ เท่านั้นว่าเป็น อิ วัณณะ แต่ความเป็นจริงแล้ว ต้องเอาสระ อี ซึ่งมีฐานเหมือนกันด้วย ฉะนั้น ในสูตรนี้ จึงถือเอาได้ว่า สามารถอาเทศ อิ และ อี ที่เป็นอักษรท้ายของบทข้างหน้าเป็น ย ได้.
         ส่วนคำว่า นวา ก็มีความหมายเดียวกันกับ กฺวจิ หรือ วา ศัพท์นั่นเอง (แปลว่า ได้บ้าง, ในพระบาลีบางที่ .  ซึ่งเรียกว่า เป็นไวพจน์กัน หรือใช้แทนกันได้นั่นเอง)
อุทาหรณ์
พฺยากาสิ*
วิ + อา + อกาสิ
พยากรณ์แล้ว
พฺยากโต
วิ + อา + กโต
พยากรณ์แล้ว
พฺยญฺชนํ
วิ + อญฺชนํ
แกง, กับข้าว
พฺยากรณํ
วิ + อา + กรณํ
ไวยากรณ์
ปฏิสนฺถารวุตฺยสฺส**
ปฏิสนฺถารวุตฺติ + อสฺส
ข้อปฏิบัติปฏิสันถารของเธอ
ทาสฺยาหํ ปรเปสิกา อหุ
ทาสี + อหํ
ฉันเป็นนางทาสรับใช้ผู้อื่น
สพฺพา วิตฺยานุภุยฺยเต
วิตฺติ + อนุภุยฺยเต
ชนทั้งปวงถูกความเพลิดเพลิน ครอบงำ.
นทฺยาสนฺโน
นที + อาสนฺโน
ใกล้แม่น้ำ (ริมน้ำ)
         * คำว่า พฺยากาสิ ในสัททนีติ แสดงว่า ตัดบทเป็น วิ + อา + อกาสิ. คำว่า วิ และคำว่า อา เป็นอุปสรรคบท. คำว่า อกาสิ เป็นกิริยาอาขยาตบท. คำว่า พยากาสิ นี้ มีความหมายว่า กเถสิ ด้วยอำนาจของวิ และ อา อุปสรรค เหมือนบทว่า กโต ในคำว่า พฺยากโต นี้ มีความหมายว่า กถิโต ด้วยอำนาจของ วิ และ อา อุปสรรค ฉะนั้น.
         อนึ่ง ในคำว่า พฺยากาสิ นี้ ในบรรดาสระ ๓ ตัวที่อยู่ตามลำดับ คือ อิ + อา + อ พึงทราบว่า มีการลบ อา อักษร หลังจาก อิ อักษร ที่เป็น อสรูปวัณณะ. (คือ ลบ อา ที่อยู่หลังจาก อิ ที่ วิ ออกไปก่อน. เมื่อ อิ ที่ วิ เป็น ย จึงทำทีฆะ อ ที่ อกาสิ เป็น อา โดยอาศัยสูตรที่ ๖๔ ว่า สรา พฺยญฺชเน ทีฆํ ทีฆะสระหน้า เพราะพยัญชนะเบื้องหลังบ้าง).
         ** คำว่า ปฏิสนฺถารวุตฺยสฺส มีการสำเร็จรูปพิเศษดังนี้
         ๑) แยกพยัญชนะออกจากสระ        วุตฺตฺ อิ อสฺส  ด้วยสูตรว่า ปุพฺพมโธ ฯ
         ๒) เพราะสระหลังเป็น อสรูปะ       วุตฺตฺ ยฺ อสฺส  ด้วยสูตรว่า อิวณฺโณ ฯ
                แปลง อิ เป็น ย
         ๓) พยัญชนะซ้อนกัน ๓ ตัว           วุ  ตฺ ยฺ อสฺส    ด้วย ศัพท์ในสูตรว่า
              ลบตัวที่เหมือนกันออก ๑ ตัว    พฺยญฺชโน จ วิสญฺโญโค[1]
         ๔) นำพยัญชนะประกอบสระหลัง    วุตฺยสฺส ด้วยสูตรว่า นเย ปรํ ยุตฺเต.
               สำเร็จรูปเป็น ปฏิสนฺถารวุตฺยสฺส


ข้อยกเว้น
            ด้วยคำว่า นวา ที่แปลว่า ได้บ้าง แสดงถึงข้อยกเว้นว่า ในอุทาหรณ์เหล่านี้ ไม่ต้องทำตามสูตรนี้ ก็ได้ เช่น
ปญฺจหงฺเคหิ
ปญฺจหิ + องฺเคหิ
ด้วยองค์ ๕
ตานิ อตฺตนิ
ตานิ + อตฺตนิ
ทุกข์เหล่านั้น ย่อมมีในตน
คจฺฉามหํ
คจฺฉามิ + อหํ
ข้าพเจ้าไป
ตสฺส ปุฏฺโฐ วิยากาสิ
วิ + อา + อกาสิ
ถูกถามแล้วจึงให้คำตอบ
มุตฺตจาคี อนุทฺธโต
มุตฺตจาคี อนุทฺธโต
ผู้สละไม่มีเยื่อใย, ไม่ฟุ้งซ่าน
อกฺขรานํ วิยญฺชนํ
วิ + อญฺชนํ
อักษร เป็นเครื่องแสดง




[1] ในสูตรนั้น ท่านบอกว่า เมื่อลบสระหลังจากนิคคหิตแล้ว พยัญชนะสังโยค จะเป็นพยัญชนะปราศจากสังโยค ด้วย.  ก็ด้วยการตัดแบ่งสูตรนี้ อาศัยคำว่า ด้วย (จ ศัพท์) นี้แหละ อาจารย์พุทธัปปิยะ ผู้แต่งคัมภีร์ปทรูปสิทธิ ท่านบอกว่า ถ้ามีพยัญชนะสังโยค ซ้อนกัน ๓ ตัว พยัญชนสังโยคที่มีรูปเหมือนกัน ต้องทำให้เป็นพยัญชนะที่ไม่มีสังโยค นั่นก็คือ ให้ลบออกไปเสีย ๑ ตัว. ดังนั้น ในอุทาหรณ์นี้ เมื่อผ่านขั้นตอนที่อาเทศเป็น ย แล้ว จะปรากฏพยัญชนสังโยคอยู่ถึง ๓ ตัว คือ ตฺ ตฺ ยฺ จึงต้องลบ ตฺ ออกเสียง ๑ ตัว ได้รูปเป็น วุตฺ ยฺ อสฺส เมื่อรวมพยัญชนะกันแล้ว จึงสำเร็จรูปดังกล่าวได้.  ในอุทาหรณ์ว่า อคฺยาคารํ เป็นต้น ก็มีนัยเช่นนี้.

29/3/57

๒๔. สรสนธิ : อาเทส : อาเทสสระหลัง

๒) อาเทสสระเบื้องหลัง ในแบบเรียน ฯ ท่านแสดงไว้ว่า ถ้ามีสระอยู่ข้างหน้า แปลง เอ ตัวหน้าแห่ง เอว ศัพท์อันตั้งอยู่เบื้องปลายเป็น ริ ได้บ้าง แล้วรัสสะสระเบื้องหน้าให้สั้น เช่น ยถา เอว เป็น ยถริว, ตถา เอว เป็น ตถริว.
         ในกัจจายนะและปทรูปสิทธิแสดงไว้ว่า
         กัจจ. ๒๒ รูป. 28 เอวาทิสฺส ริ ปุพฺโพ จ รสฺโส
         มีการอาเทศเป็น ริ แห่ง เอ อันเป็นเบื้องต้นของ เอว ศัพท์ อันเป็นเบื้องหลัง จากสระ ได้ด้วย จ ศัพท์, และ สระหน้าเป็นรัสสะ ได้บ้าง.
            สัทท. 52 เอวสฺเสสฺส ริ ปุพฺโพ
            แปลงเอ ของ เอว ศัพท์หลังจากสระ เป็นริ และรัสสะ สระหน้าได้บ้าง
อธิบาย. สูตรนี้ เป็นสูตรถือเอา เอ อักษร อันเป็นเบื้องหลังจาก ยถา และ ตถา ศัพท์.  มีการอาเทศ เป็น ริ แห่ง เอ อักษรอันเป็นเบื้องต้นของเอว ศัพท์ อันเบื้องหลัง จากทีฆะสระ.และสระหน้าเป็นรัสสะสระ ได้บ้างในบางอุทาหรณ์.
         คือ สูตรนี้ใช้เฉพาะ สระ เอ ที่เป็นบทที่มีต่อจาก ยถาและตถา ศัพท์เท่านั้น. ต่อจากนั้นท่านให้อาเทศ เอ เป็น ริ แล้วรัสสะสระอา ที่ ยถา หรือ ตถา เป็น สระ อ.
ตัวอย่าง เช่น ยถา เอว เป็น ยถริว (ฉันใด นั่นเทียว), ตถา เอว เป็น ตถริว (ฉันนั้นนั่นเทียว)
ข้อยกเว้น ด้วย นวา ศัพท์ ที่แปลว่า ได้บ้าง ในสูตรว่า อิวณฺโณ ยํ นวา ซึ่งครอบคลุมถึงสูตรนี้ ยังเป็นการกำหนดว่า เมื่อมีการี (ตัวที่มีการทำ) คือ ยถา เอว จะเป็นการิยะ (ตัวที่ถูกทำหรือสร้างขึ้นมา คือ ผลลัพท์) คือ ยถริว เป็นต้นเสมอไป. ในพระบาลีบางที่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้น จึงปรากฏรูปว่า ยเถว ตเถว ดังนี้ก็มี เป็น ยถา เอว ตถา เอว ดังนี้ ก็มี.

            ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ ท่านจัดสรสนธิและพยัญชน-สนธิ ไว้ต่างกันกับในคัมภีร์ปทรูปสิทธิและสัททนีติอยู่บ้าง สูตรต่อไปนี้ ในแบบเรียนท่านจัดเข้าไว้ในพยัญชนสนธิ เพราะมองว่า เป็นการต่อพยัญชนะกับสระ. แต่ในคัมภีร์นั้น ๆ ท่านยังจัดอยู่ในสรสนธิ เพราะมองว่า ยังมีสระอันอยู่เบื้องหลังเป็นนิมิตต์ (เหตุให้เกิด การสนธิโดยการลบเป็นต้น ) และไม่จัดอยู่ในพยัญชนสนธิ เพราะในพยัญชนสนธินั้น ท่านมองว่า มีพยัญชนะอันอยู่เบื้องหลังเป็นนิมิตต์นั่นเอง. ดังนั้น ในที่นี้ จักแสดงไว้ตามที่อยู่ในคัมภีร์เหล่านั้น คือ ยังคงอยู่ในหัวข้อแห่งสรสนธิ.

๒๓. สรสนธิ : อาเทส : อาเทสสระหน้า : อุ โอ เป็น ว

แปลง โอ และ อุ ที่สุดแห่งศัพท์เป็น ว
            กัจจ. 18 รูป. 20  วโมทุทนฺตานํ
                 ในเพราะสระหลัง มีการอาเทศเป็น ว แห่ง โอและอุอักษร
            อันเป็นที่สุดของบทได้บ้าง.
         สัทท. 44 ก ข ต ถ ท น ย ส หานํ โวทุทนฺตานํ
                 ในเพราะสระเบื้องหลัง ย่อมมีการแปลงเป็น ว แห่ง โอและอุ
            ของ ก ข ต ถ ท น ย ส และห อันเป็นพยางค์สุดท้าย ของบท ได้บ้างในบางที่.
            โมค. แสดงรวมไว้ในสูตรว่า เอโอนํ  และว่า ยวา สเร (ในเพราะสระเบื้องหลัง แปลงอิ เป็น ย, อุ เป็น โอ ได้บ้าง).
อธิบาย การแปลง โอ และ อุ เป็น ว ได้นั้น มีกฏเกณฑ์ดังนี้
         - ต้องเป็น โอ และ อุ ที่สุดของบทเท่านั้น
         - ต้องเป็น โอ และ อุ ของศัพท์ที่ประกอบด้วย ก ข ย ส ต พยัญชนะ เป็นต้นเท่านั้น และสัททนีติ เพิ่ม ท ถ น ห เข้ามา รวมเป็น ก ข ต ถ ท น ย ส และห รวม ๙ ตัว.
อุทาหรณ์
ยาวตกฺวสฺส กาโย
ยาวตโก + อสฺส
กายมหาบุรุษนั้น มีขนาดเท่าใด
อคมา นุ ขฺวิธ
โข + อิธ
ได้ไปในที่นี้หรือหนอ
จกฺขวฺวาปาถมาคจฺฉติ
จกฺขุ + อาปาถํ
รูปารมณ์มาสู่คลองจักษุ
สิตํ ปาตฺวากาสิ
ปาตุ + อกาสิ
ทรงแย้มยิ้มให้ปรากฏ
ยตฺวาธิกรณํ
ยโต + อธิกรณํ
มีสิ่งใดเป็นเหตุ
วตฺเถฺวตฺถ วิหิตํ นิจฺจํ
วตฺถุ+ เอตฺถ
วัตถุถูกฝังไว้ในที่นี้แน่นอน
ทฺวากาเร
ทุ + อากาเร
ผู้มีกิริยาอาการไม่งาม
ยฺวายํ
โย + อยํ
บุคคลนี้ใด
อนฺวาคนฺตฺวาน ทูเสยฺย
อนุ + อาคนฺตฺวาน
มาแล้ว พึงทำลาย
สฺวาสฺส โหติ
โส + อสฺส
ความบากบั่นนั้นมีแก่เขา
สฺวาคตํ เต
สุ + อาคตํ
ยินดีต้อนรับท่าน
พวฺหาพาโธ
พหุ + อาพาโธ
อาพาธมาก, ป่วยมาก
ลวฺหฺขรํ*
ลหุ + อกฺขรํ
อักษรเสียงเบา

         *สลับอักษรหน้ากับอักษรหลัง (หฺ กับ วฺ) ด้วยสูตรว่า ปริยาทีนํ รยาทิวณฺณสฺส ยราทีหิ วิปริยาโย. (พยัญชนะ ร ย เป็นต้น ของปริยศัพท์เป็นต้น สลับตำแหน่งเป็น ย ร เป็นต้นได้) (สัทท.แปลสูตรที่ 154 หน้า 132)

ข้อยกเว้น สูตรนี้มีข้อยกเว้น คือ
            ๑) ห้ามแปลง อุ อักษร และ โอ อักษร เป็น ว ได้บ้างในอุทาหรณ์เหล่านี้ คือ
            โก อตฺโถ ประโยชน์อะไร (ไม่เป็น กฺวตฺโถ เป็น โก อตฺโถ)
         อถ โข เอส ครั้งนั้นแล เขา (ไม่เป็น อถขฺเวส เป็น อถ โข เอส)
         โย อหํ ข้าพเจ้าผู้ใด (ไม่เป็น ยฺวาหํ เป็น โยหํ)
         โส อหํ ข้าพเจ้า ผู้นั้น (ไม่เป็น สฺวาหํ เป็น โสหํ)
         จตฺตาโร อิเม ธรรม ๔ ประการนี้ (ไม่เป็น จตฺตารฺวิเม เป็น จตฺตาโรเม)
         ๒) ห้ามแปลง อุ อักษร เป็น ว ในที่ที่ไม่ใช่ อุ อักษรอันเป็นที่สุดของบท เช่น
         สวนียํ คำพูดอันบุคคลพึงฟัง มาจาก สุ + อนีย .  คำว่า สุ ในที่นี้ ไม่ใช่ที่สุดของบท จึงไม่สามารถแปลง อุ เป็น ว ด้วยสูตรนี้ได้ แต่เป็นการพฤทธิ์ (เป็นการเพิ่มเสียงขึ้นมา บางทีเรียกว่า วุทธิ)  อุ เป็น โอ ด้วยสูตรว่า อญฺเญสุ จ แล้วแปลงโอ เป็น อวด้วยสูตรว่า โอ อว สเร.
         วิรวนฺติ ย่อมร้อง มาจาก  วิ + รุ ธาตุ  + อนฺติ วิภัตติอาขยาต ก็โดยนัยเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว.
         ๓) โอ และ อุ อักษร ที่อยู่นอกจากพยัญชนะเหล่านี้ คือ  ก ข ต ถ ท น ย ส และห  นี้แล้ว ไม่สามารถแปลง เป็น ว ได้ เลย ในคำเป็นต้นว่า
         มหายาโค อาสิ การบูชาใหญ่ ได้มีแล้ว.
         ยาคุ อตฺถิ ข้าวยาคู มีอยู่

ในสัททนีติ สูตรที่ ๔๕ ท่านกล่าวถึงข้อยกเว้นการอาเทศเป็น ว แห่ง โอ อักษรไว้ว่า
          น ปเรปิ สเร เหตุธาตาทีนมุสฺส ปาวจเน จ
         ในพระบาลีและในอรรถกถาดั้งเดิม แม้จะมีสระอยู่หลัง ก็ไม่มีการแปลง อุ อักษรของเหตุศัพท์และ ธาตุศัพท์เป็นต้น เป็น ว. เช่น
เหตุตฺโถ
เหตุ + อตฺโถ
อรรถเหตุ
ธาตุตฺโถ
ธาตุ + อตฺโถ
อรรถธาตุ
เหตินฺทฺริยานิ
เหตุ + อินฺทฺริยานิ
อินทรีย์เป็นเหตุ
ขนฺธธาตายนตนานิ
ขนฺธธาตุ + อายตนานิ
ขันธ์ ธาตุ อายตนะ
กตฺตุอตฺโถ
กตฺตุ + อตฺโถ
อรรถกัตตา
        
แต่อย่างไรก็ตาม ตามมติของอาจารย์บางท่านให้แปลงเป็น ว ได้ ก็มี เช่น

เหตฺวตฺโถ
เหตุ + อตฺโถ
อรรถเหตุ
ธาตฺวตฺโถ
ธาตุ + อตฺโถ
อรรถธาตุ
ปญฺจธาตฺวาทินิยมา
ปญฺจธาตุ + อาทินิยมา
กำหนดธาตุ ๕ เป็นต้น
กตฺวตฺโถ
กตฺตุ + อตโถ
อรรถกัตตา
อปิสุ ขลฺวหาเสสึ
ขลุ + อหํ + อาเสสึ
เราได้อยู่ แน่แท้
อสฺโส ขลฺวาภิธาวติ
ขลุ + อภิ + ธาวติ
ม้าวิ่งไปเร็วยิ่ง
จิตฺรคฺวาทโย
จิตฺรโค + อาทโย
วัวด่างเป็นต้น
ภฺวาปานลานิลํ
ภู + อาป + อนล + อินล
ปฐวี อาโป เตโช วาโย
มธฺวาสโว*
มธุ + อาสโว
ยาดองน้ำผึ้ง