29/10/56

๑๘ สระสนธิ วิการสนธิ

          ๒.  วิการสรสนธิ การทำให้ผิดไปจากของเดิม.   ในแบบเรียนท่านแสดงว่ามี ๒ นัย คือ วิการในเบื้องปลาย และวิการในเบื้องต้น
         ๑) วิการในเบื้องปลาย มีสูตรและวิธีการทำสนธิ ตามที่คัมภีร์กัจจายนะ แสดงไว้ในสูตรว่า
         กฺวจาสวณฺณํ ลุตฺเต (กัจจ. 14, รูป. 16)
         เมื่อสระหน้า ถูกลบแล้ว, สระหลัง เป็นสระอสวัณณะบ้าง.
อธิบาย. เมื่อสระหน้าที่มีรูปไม่เหมือนกัน (คือ มีวัณณะต่างกัน กับสระหลังที่เป็น อิ อี และ อุ ได้แก่ อ อา) ถูกลบไปแล้ว สระหลัง ที่เป็น อิวัณณะ (อิ อี) และอุ จะเปลี่ยนเป็น อสวัณณะ (สระที่มีเสียงต่างกัน คือ ไม่มีฐานและกรณ์ที่เหมือนกัน) คือ  เอ โอ หมายความว่า อิ อี จะเป็น เอ,  อุ จะเป็น โอ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า อิ อี กับ เอ, อุ กับ โอมีฐานเสียงที่ใกล้เคียงกัน.
ศัพท์เหล่านี้เป็นอาเทสสรสนธิ
พนฺธุสฺส + เอว เป็น พนฺธุสฺเสว
ยถา + อุทเก เป็น ยโถทเก
อุป + อิกฺขติ  เป็น อุเปกฺขติ
ชิน + อีริตํ เป็น ชิเนริตํ
อุป + อิโต เป็น อุเปโต
น + อุเปติ  เป็น โนเปติ
อว + อิจฺจ เป็น อเวจฺจ
จนฺท + อุทโย เป็น จนฺโททโย
ข้อยกเว้น
         ในบางอุทาหรณ์ คือ ตตฺริเม, ยสฺสินฺทฺริยานิ, มหิทฺธิโก, สพฺพีติโย, เตนุปสงฺกมิ, โลกุตฺตโร.   ไม่ต้องวิการ อิ เป็น เอ และอุ เป็น โอ. 
         หมายความว่า เมื่อเข้าเกณฑ์สูตรนี้ได้ ก็ใช่ว่าจะต้องมีการทำเป็น เอ โอ ไปเสียทุกบทไป. เพราะบางบทถ้าทำไปก็อาจจะขัดต่อพระพุทธพจน์ได้.
         คำว่า ลุตฺเต ลบแล้ว มีประโยชน์ในการห้ามทำเป็น เอ โอ ในที่ไม่ได้ลบสระ.
            หมายความว่า ถ้าในบทที่ยังไม่ได้ลบสระ ก็ไม่เข้าเกณฑ์ของสูตรนี้ เช่นในอุทาหรณ์นี้ว่า "ฉ อิเม ธมฺมา,  ยถา อิทํ , กุสลสฺส อุปสมฺปทา"
         คำว่า อสรูเป มีรูปไม่เหมือนกัน มีประโยชน์ในการห้ามทำเป็น เอ โอ ในที่มีสรูปสระ (สระอันมีวัณณะเสมอกัน).
            หมายความว่า ในที่เป็นสรูปะกัน ห้ามทำเป็น เอ โอ คือ ถ้าสระหน้า ก็เป็น อิ หรือ อุ เหมือนกัน ไม่เข้าเกณฑ์สูตรนี้ เช่น จตฺตาริ อิมานิ เป็น จตฺตาริมานิ, มาตุ อุปฏฺฐานํ เป็น มาตุปฏฺฐานํ
         ส่วนในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ก็มีนัยเช่นนี้.

         ๒) วิการในเบื้องต้น ในกัจจายนะและปทรูปสิทธิ มิได้แสดงไว้ แต่ในสัททนีติท่านแสดงสูตรไว้ว่า
         35. สเร  ปุพฺโพ
         เมื่อลบสระหลังแล้ว เอาสระหน้าเป็นสระอสวัณณะได้บ้าง.
อธิบาย สูตรนี้ เมื่อลบสระต้นของบทหลังแล้ว จึงวิการสระท้ายของบทหน้าเป็น เอ โอ ได้บ้าง. เช่น ในคำว่า มุนิ + อาลโย เป็น มุเนลโย ,  รถี + อุสโภ เป็น รเถสโภ,  สุ + อิตฺถี
เป็น โสตฺถี (หญิงงาม)
         และด้วยคำว่า ได้บ้าง นี้ ในบางอุทาหรณ์ก็ไม่แปลงเป็น เอ โอ เช่น  อุจฺฉุ + อิว เป็น อุจฺฉุว.

         ส่วนในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ก็มีนัยเช่นนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น