14/10/56

๑ เริ่มเรียนบาลี

บาลีไวยากรณ์เบื้องต้น
นโม  ตสฺส ภควโต  อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ฯ

            ๑. ไวยากรณ์ คือ วิชาภาษาว่าด้วยรูปคำและระเบียบในการประกอบรูปคำให้เป็นประโยค.
      ๒.  บาลี แปลว่า ภาษาที่รักษา คือบันทึกพระพุทธพจน์ไว้ (พุทฺธวจนํ  ปาเลตีติ  ปาลิ).  บางทีเรียกว่า ภาษามคธ เพราะเป็นภาษาที่ใช้อยู่ในแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้แสดงธรรมะ. 
       ๓. ภาษาบาลี จัดเป็นภาษาที่แสดงถึงสภาวะ (สภาวนิรุตติ) เพราะเป็นภาษาที่ไม่ผิดไปจากสภาวะและธรรมนั้น. เมื่อกล่าวถึงศัพท์ใด ๆ โดยมากแล้วก็สามารถสืบค้นถึงรากศัพท์อันเป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวธรรมได้หรือความเป็นไปของธรรมชาตินั้น ๆ ได้.
        ๔. บาลีไวยากรณ์ จึงเป็นหลักการศึกษาถึงระเบียบการประกอบรูปคำในภาษาบาลีอันเป็นภาษาที่ใช้บันทึกพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมาในรูปของพระคัมภีร์พระไตรปิฎก ตลอดจนคัมภีร์ที่เป็นคู่มือของพระไตรปิฎก เช่นอรรถกถา ฎีกาเป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่จะศึกษาพระไตรปิฎกให้เข้าใจได้ดี ควรจะได้ศึกษาภาษาบาลีควบคู่กันไปด้วย ดังมีคำกล่าวของนักปราชญ์ว่า
                        โย นิรุตฺตึ น สิกฺเขยฺย                สิกฺขนฺโต ปิฎกตฺตยํ
                        ปเท  ปเท  วิกงฺเขยฺย                  วเน อนฺธคโช ยถา ฯ
                 ผู้ใดไม่สนใจศึกษาคัมภีร์ไวยากรณ์ ผู้นั้น เมื่อศึกษาพระไตรปิฎก
 พึงถึงความสงสัยไปเสียทุกบท ดุจดังคชสารจักษุบอด เที่ยวสะเปะสะปะ
ไปในไพรสณฑ์ ฉะนั้น.
             ๕. ไวยากรณ์บาลีแบ่งเป็น ๔ ภาค ดังนี้คือ
            ๑. อักขรวิธี  คือ ประเภทและวิธีการใช้ตัวอักษร แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
                        ๑.๑ สมัญญาภิธาน  คือ การแสดงและการตั้งชื่ออักษร ทั้งที่เป็นสระ และพยัญชนะ รวมถึงฐาน( ตำแหน่งที่เกิดเสียง มีคอ เป็นต้น)  กรณ์ (อวัยวะที่ช่วยให้ออกเสียงชัดเจน มีท่ามกลางลิ้นเป็นต้น).
                        ๑.๒ สนธิ คือ วิธีการเชื่อมหรือต่อตัวอักษรให้ติดเนื่องกันสนิท
              ๒. วจีวิภาค  คือ ส่วนแห่งคำพูด มี ๖ ประเภท คือ
                        ๒.๑ คำนาม ได้แก่ ชื่อของคน สัตว์ สิ่งของเป็นต้น แบ่งออกเป็น ๓ประเภท คือ 
                        ๑) นามนาม (ชื่อของคน สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น) 
                        ๒) คุณนาม (นามที่แสดงลักษณะของนามนามให้รู้ว่า ชั่ว ดี เป็นต้น )
                        ๓) สัพพนาม (ชื่อที่ใช้แทนนามนาม ที่กล่าวมาแล้ว).
                        ๒.๒ อัพยยศัพท์ ได้แก่ คำศัพท์ที่คงรูปเดิมของตนไว้เช่นนั้น มิได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะวิภัติ และปัจจัยเป็นต้น มี ๓ ประเภท คือ
                        ๑) อุปสัค (คำที่ใช้เติมข้างหน้าคำอื่น เพื่อให้มีความหมายต่างออกไป)
                        ๒) นิบาต (คำที่ใช้เติมลงในระหว่างคำพูด)
                        ๓) ปัจจัย (คำเติมท้ายนามศัพท์)
                        ๒.๓ คำสมาส ได้แก่ คำศัพท์ที่ได้จากการย่อนามศัพท์ ตั้งแต่ ๒ บทขึ้นไปมารวมเป็นบทเดียว มี ๖ ประเภทคือ
                        ๑) กัมมธารยสมาส สมาสที่รวมคำพูด ๒ คำอันมีความหมายเสมอกันไว้.
                        ๒) ทิคุสมาส สมาสที่มีบทหน้าเป็นสังขยาศัพท์ (จำนวนนับหรือตัวลข)
                        ๓) ตัปปุริสสมาส สมาสที่ย่อคำนามที่ประกอบด้วยวิภัติต่าง ๆ ซึ่งเป็นบทหน้าเข้ากับบทหลัง.
                        ๔) ทวันทวสมาส สมาสที่รวมนามนาม ๒ ศัพท์ ที่มีความหมายไม่เหมือนกันเข้ากันไว้.
                        ๕) อัพยยีภาวสมาส สมาสที่มีอุปสัคเป็นต้นอยู่ข้างหน้า
                        ๖) พหุพพิหิสมาส สมาสที่มีบทอื่นเป็นประธาน คือระบุถึงบทอื่นจากบทที่ถูกย่อ
                        ๒.๔ ตัทธิต ได้แก่ การย่อคำพูดไว้ โดยใช้ปัจจัย (เครื่องหมาย) เป็นตัวแทนเพื่อสื่อถึงความหมายที่ได้ย่อไว้. แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
                        ๑) สามัญญตัทธิต ใช้แทนศัพท์ได้ทั่วไป มีโคตตตัทธิต ที่ใช้แทนคำว่า โคตร เป็นต้น
                        ๒) อัพยยตัทธิต ใช้ปัจจัยแทนเฉพาะอัพยยศัพท์เท่านั้น
                        ๓) ภาวตัทธิต ใช้ปัจจัยแทนเฉพาะภาวศัพท์ (ที่แปลว่า ความเป็น)เท่านั้น.
                        ๒.๕ อาขยาต ได้แก่ บทกริยา ซึ่งประกอบด้วยวิภัตติ กาล บท วจนะ บุรุษ ธาตุ วาจก ปัจจัย  จัดเป็นกิริยาที่เป็นหลักของประโยค บางทีเรียกว่า กิริยาคุมพากย์ เพราะแสดงถึงความเป็นไปของประโยคนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร เป็นต้น.
                        ๒.๖  กิตก์ ได้แก่ บทที่สำเร็จมาจากธาตุ (รากศัพท์) โดยประกอบกับคำศัพท์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ปัจจัย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
                        ๑) นามกิตก์  สำเร็จเป็นนามศัพท์
                        ๒) กิริยากิตก์ สำเร็จเป็นบทกิริยา
            ๓. วากยสัมพันธ์ ได้แก่ การเรียนรู้ถึงการกะ คือ หน้าที่ของคำนามที่ประกอบกับวิภัตตินาม ทั้ง ๗ วิภัตติ แล้วมีความหมายอย่างไร ทำหน้าที่อย่างไร ตลอดจนถึงศึกษาวิธีประกอบคำศัพท์ต่าง ๆ ในวจีวิภาคเข้าเป็นประโยค เพื่อเป็นการแต่งหนังสือ อีกทั้งเป็นการศึกษาวิธีการแปลหนังสือที่ได้แต่งมาแล้ว
            ๔ . ฉันทลักษณ์ ได้แก่ วิธีการแต่งคำพูดธรรมดา ให้เป็นคำฉันท์ โดยยึดหลักการออกเสียงหนักและเบาเป็นต้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คาถา (ไม่ใช่คาถาอาคม ในภาษาไทย)  ส่วนคำพูดธรรมดา (ตรงกับคำว่า ร้อยแก้ว ในภาษาไทย)  บางทีเรียกว่า จุณณียะ
            ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการแนะนำให้รู้จักชื่อและโครงสร้างของไวยากรณ์ก่อน ซึ่งในแต่ละประเภทมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาอีกมากมาย จะได้กล่าวโดยพิสดารต่อไป.

**********

9 ความคิดเห็น:

  1. ได้อ่านแล้วครับ จำได้บ้างเก็บไว้ในสัญญาแล้วครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. อนุโมทนาสาธุครับ ที่ได้อ่านภาษาแห่งพระธรรมครับ

      ลบ
  2. ขอจงได้รับแต่ความร่มเย็นยิ่ง...สว่างไสวในพระธรรมตลอดไป

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบพระคุณครับ ขออนุโมทนาสาธุในเมตตาจิตของท่านพี่ด้วยครับ

      ลบ
  3. เมตตาธรรมค้ำจุนชาวโลก ให้พ้นโศกวิปโยคห่างหาย
    เมตตากรุณาชุุบชีวาบังเกิดสุขสบาย ศานติสุขเกิดได้ด้วยเราทั้งหลายเมตตา

    ตอบลบ