24/5/59

ธมฺมิกถา , ธมฺมกถา , ธมฺมี กถา เหมือนหรือต่างกัน

บทความพิเศษ
ขอตั้งปัญหาโดยสรุปว่า ธมฺมิกถา ธมฺมกถา หรือ ธมฺมี กถา อย่างไหนถูกมีที่มา ๓ แห่ง คือ
หลักไวยากรณ์ :  ธมฺมิกถา
พระบาฬี :  ธมฺมิกถา (สยามรัฐบางเล่ม) ธมฺมี กถา (ฉัฏฐสังคายนาทุกเล่ม)  ก็มี ธมฺมกถา ก็มี
อรรถกถา : ธมฺมกถา (คำอธิบายของ ธมฺมี กถา)
ข้าพเจ้าเมื่อเขียนบทความเรื่อง “ศึกษาบาฬีไวยากรณ์กับคัมภีร์นิรุตติทีปนี” ก็พบอุทาหรณ์หนึ่งในตอนว่าด้วย การลง สระอิเป็นอาคม
ในคัมภีร์นั้น ท่านยกพระบาฬีว่า “ธมฺมิกถํ กตฺวา” แปลว่า กระทำแล้ว ซึ่งธรรมีกถา จากพระบาฬีวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวฬัญชกัณฑ์ ข้อ ๑ ถ้าว่าตามพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ หรือ พระบาฬีวินัยปิฎก ปาราชิกกัณฑ์  พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา
ปกติ เมื่อพบอุทาหรณ์ของหลักการตามสูตรไวยากรณ์ข้อนั้นๆ ข้าพเจ้า ก็จะต้องตามไปค้นหาหลักฐานที่พระคันถรจนาจารย์แสดงไว้ เพื่ออ้างอิงและหาบริบทประกอบ ให้แน่ใจว่า เป็นไปตามหลักการที่ท่านว่าไว้ โดยถือว่า เป็นการศึกษาหาความรู้จากคัมภีร์ต่างๆไปด้วย
อุทาหรณ์นี้ก็เช่นกัน ทีแรกก็คิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่พอเข้าไปถึงคัมภีร์ที่มาก็ต้องพบกับความฉงนในปาฐะที่แตกต่างกันจากอุทาหรณ์ที่ท่านยกมา คือ บางแห่งเป็น ธมฺมิกถา บางแห่งเป็น ธมฺมกถา บางแห่งเป็น ธมฺมี กถา จะถือเอาข้อไหนกันดีละทีนี้
จะขอเล่าที่มาแต่ละปาฐะแบบเป็นกันเอง
ครั้งที่ ๑ ค้นไปตามเลขเชิงอรรถที่ท่านทำไว้ให้ดูในฉบับฉัฏฐสังคายนา โดยเป็น ฉบับ CSCD หรือ ฉัฏฐสังคายนาซีดี เป็นปาฐะว่า ธมฺมิํ กถํ กตฺวา
ครั้งที่ ๒ เมื่อเห็นปาฐะที่ไม่เหมือนในที่นี้ ลองไปดูในฉบับสยามรัฐ ก็พบว่าเป็น ธมฺมิํ กถํ กตฺวา อีกเช่นกัน
สองฉบับนี้เหมือนกัน คราวนี้ชักเอะใจว่า คัมภีร์นี้ต่างจากพระบาฬีที่มาได้อย่างไร. คิดในใจว่า คำว่า ธมฺมิกถา  คงกลายเป็น ทีฆกถา แน่แล้ว
จะทำอย่างไร จะปล่อยให้สงสัยต่อไปกระนั้นหรือ เกิดเป็นชายต้องพยายามจนกว่าถึงที่สุด (เอามาจากบาฬีสังยุตตนิกายครับที่วา วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา บุรุษควรพากเพียรจนกว่าผลประโยชน์จะสำเร็จ  ไม่ใช่สโลแกนของไก่ทอดของนายทหารชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง) เปิดตำราค้นคว้าสิครับ จะรออะไรอยู่ (เปิดในคอมพิวเตอร์ ประหยัดเวลาหน่อย)
ครั้งที่ ๓ คราวนี้ยิ่งงงหนัก เพราะได้พบความต่างกันอีกมากมาย คือ นอกจากจะมี ธมฺมิํ กถํ แล้ว ยังมี ธมฺมี กถา ธมฺมิกถา และ ธมฺมกถา อีก แถมยังประกอบวิเสสนะที่ลงท้ายด้วยคำว่า .. ปฏิสํยุตฺตา อีก
เมื่อตอนเรียนบาฬีใหม่ๆ ท่านสอนให้แปลคำว่า ธมฺมกถา ว่า ธรรมกถา และ และในหนังสือพระไตรปิฎกฉบับไทย ท่านก็แปลคำว่า ธมฺมี กถา หรือ ธมฺมิกถา ว่า ธรรมีกถา
เอาเป็นว่า จะแปลว่า ยังไงๆ ก็ไม่รู้อยู่ดี ตกลงมันคืออะไรกันแน่ สามคำนี้ ตามข้าพเจ้ามาอ่านดู เผื่อจะช่วยข้าพเจ้าคิดบ้าง
สามคำนี้ คิดว่า ไม่มีใครผิด แต่มีที่มาอย่างไรกันแน่ สื่อความหมายเดียวกันไหม
๑.     ธมฺมิกถา = ธรรมีกถา,  คำพูดที่เนื่องด้วยธรรม
คัมภีร์นิรุตติทีปนีท่านยกคำว่า ธมฺมิกถํ กตฺวา กระทำและซึ่งธรรมีกถา อุทาหรณ์นี้ ท่านน่าจะนำมาจากพระบาฬีวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวฬัญชกัณฑ์ (วิ.๑/๓๙) (ฉบับสยามรัฐ หรือปาราชิกกัณฑ์ในฉัฏฐสังคายนา). แต่ในพระบาฬีนั้นปัจจุบันมีรูปเป็น ธมฺมิํ กถํ กตฺวา.
อย่างไรก็ตาม รูปว่า ธมฺมิกถา ยังมีเห็นในพระบาฬีแห่งอื่นๆ เช่น
น จ เม เอวรูปี ธมฺมิกถา สุตปุพฺพา
กระผม (ได้นั่งใกล้พระศาสดาและหมู่ภิกษุที่น่าเจริญใจมาแล้วนาน) ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาเห็นปานนี้
 (อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ม.อุ.๑๔/๗๓๗ ฉบับสยามรัฐ แต่ฉบับฉัฏฐสังคายนาเป็น ธมฺมี กถา ในที่นี้เอาฉบับสยามรัฐ เพราะได้อุทาหรณ์สอดคล้องกับหลักการในที่นี้)
อรรถกถาพระสูตรนี้ แก้เป็น
อยํ อุปาสโก – ‘‘สตฺถุ สนฺติกาปิ เม เอวรูปี ธมฺมกถา น สุตปุพฺพา’’ติ วทติ
อุบาสกนี้ ย่อมกล่าวว่า เราไม่ได้เคยฟังธรรมกถาอย่างนี้จากสำนักพระศาสดา

ธมฺมิกถํ ภาสติ สจฺจนาโม
ท่านผู้มีชื่อสอดคล้องกับความจริง ย่อมกล่าวธรรมีกถา (คำพูดประกอบด้วยธรรม - ขุ.เปต.๒๓/อมฺพสกฺกรเปตวตฺถุ
แม้ในคัมภีร์อรรถกถาอีกหลายแห่งก็ยังคงมีรูปเป็น ธมฺมิกถา เช่น
โส  เถโร  กตภตฺตกิจฺโจ  อาสนทานโภชนทานาทิปฏิสํยุตฺตํ  ธมฺมิกถํ  กเถตฺวา  ปกฺกามิ ฯ 
พระเถระฉันเสร็จแล้วกล่าวธรรมีกถาประกอบด้วยทานมีถวายอาสนะถวายอาหารเป็นต้นแล้วก็ไป.     
(อรรถกถาวิมานวัตถุ ปฐมปีฐวิมาน)
 
จากอรรถกถาอนาถปิณฑิโกวาทสูตรที่อธิบายคำว่า  ธมฺมิกถา (หรือ ธมฺมี กถา) เป็น ธมฺมกถา จึงแสดงว่า คำว่า ธมฺมิกถํ ในที่นี้ คือ ธมฺมกถา นั่นเอง เมื่อลง อิ อาคมในท่ามกลางบท จึงเป็น ธมฺมิกถา แปลว่า คำพูดหรือการพูดอันเกี่ยวกับข้อธรรม. อิ ไม่มีความหมายอะไร เป็นเพียงแค่อักษรอาคมตัวหนึ่ง.
รูปว่า ธมฺมิกถา จึงถือว่า ถูกต้อง เพราะสมควรต่อหลักไวยากรณ์ตามที่คัมภีร์นิรุตติทีนีนี้ให้ไว้ แม้จะไม่มีสูตรสำเร็จรูปโดยตรง แต่ถือว่า สำเร็จรูปได้ด้วยมหาสูตร คือ สูตรที่อนุโลมให้สำเร็จรูปศัพท์ตามที่มีใช้จริงในพระบาฬี ดังนั้น ท่านก็ถือว่า ธมฺมิกถา นี้มีที่มาตามอาคตสถานดังกล่าว



๒. ธมฺมกถา =  ธรรมกถา คำพูดที่เนื่องด้วยธรรม
ในฐานะที่คำว่า ธมฺมิกถา กลายรูปมาจาก ธมฺมกถา ตามหลักการในข้อ ๑  ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำความเข้าใจคำว่า ธมฺมกถา ที่กลายรูปเป็น ธมฺมิกถา ด้วย
คำนี้ มีการแยกบทกระจายความหมายเป็น ๒ นัย คือ
๑) ธมฺม + กถนํ การกล่าวธรรม. 
โดยนัยนี้ หมายถึง การแสดงธรรม. คัมภีร์ฎีกาวิสุทธิมรรค (วิสุทธิ.ฎี. ๒/๓๘๖) ให้รูปวิเคราะห์ว่า
ธมฺมสฺส กถนํ ธมฺมกถา
การกล่าว ซึ่งธรรม ชื่อว่า ธรรมกถา
มีตัวอย่างการใช้ว่า
ปริกถาทิวเสน ธมฺมสฺส กถนํ ธมฺมกถา
 การกล่าวธรรมด้วยอำนาจแห่งปริกถา
 (ปริกถา คือ การพูดเลียบเคียงโดยประการที่จะได้ปัจจัยนั้นมา ยถา ตํ ลภติ, ตถา ปริวตฺเตตฺวา  ปริวตฺเตตฺวา  กเถติ อภิ.วิ. อฏฺ. , ปริยาเยน กถา ปริกถา การกล่าวโดยอ้อมหรือพูดหว่านล้อม.
แต่ในที่นี้หมายถึง การแสดงธรรมโดยอ้อม คือ พรรณนานิทานของสูตรเป็นต้น)
ธมฺมกถาสมโย เวลาแสดงธรรม,
ธมฺมกถาวสานํ ที่สุดแห่งการแสดงธรรม
ธมฺมกถา อริโย วา ตุณฺหีภาโว
เมื่อภิกษุประชุมกัน กิจสองคือ การสนทนาธรรมและการนิ่งอันเป็นประเสริฐ (ตามนัยของอรรถกถาสังยุตตนิกาย การนิ่งอันประเสริฐ คือ การมนสิการกรรมฐาน หรือ การเข้าปฐมฌานเป็นต้น)

๒) กถาหรือคำสนทนาเกี่ยวกับธรรม
ในกรณีนี้เป็นคำสมาสที่ลบบทกลางไป สามารถตั้งรูปวิเคราะห์ว่า
ธมฺเมน ยุตฺตา กถา ธมฺมกถา
คำพูด (บทสนทนา) ที่ประกอบด้วยธรรมะ ชื่อว่า ธรรมกถา
(หมายเหตุ ข้าพเจ้าตั้งรูปวิเคราะห์เอง โดยสอดคล้องกับรูปวิเคราะห์ของบทว่า ธมฺมี ที่ว่า ธมฺเมน ยุตฺตา ธมฺมี กถา ที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้าได้)
ถ้าโดยนัยนี้ มักจะมีบทวิเสสนะที่บ่งถึงลักษณะของธรรมกถานั้นๆ ด้วย เช่น
อริยวํสสุตฺตปฏิสํยุตฺตา ธมฺมกถาฯ
ธรรมกถา อันประกอบด้วยพระสูตรอริยวังสสูตร
อนิจฺจตาทิปฏิสํยุตฺตาย  ธมฺมิยา  กถาย  สํเวเชตฺวา  วิปสฺสนามคฺคํ  อาจิกฺขิตฺวา  คโต
พระเถระ ให้นางสังเวชแล้วด้วยธรรมกถาที่ประกอบด้วยพระไตรลักษณ์มีความไม่เที่ยงเป็นต้น จึงบอกวิธีการแห่งวิปัสสนา แล้วจึงกลับไป.
          การลงอิอาคมตามหลักการข้อ ๑ ไม่ใช่ว่า จะต้องทำอย่างแน่นอน ถ้าไม่ทำถือว่า ผิดหลักไวยากรณ์ ดังนั้น ธมฺมกถา ก็ถือเป็นรูปที่ถูกต้องตามหลักการทั่วไป.
๓. ธมฺมี กถา = คำพูดที่ประกอบด้วยธรรม ฯลฯ
คำนี้ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างไปจากในข้อ ๑ และ ข้อ ๒ คือ เป็นคำที่มีการลงปัจจัยเพื่อย่อคำพูด เรียกว่า ตัทธิตปัจจยันตบท. คำนี้ มาจาก ธมฺม บทพระธรรม ประกอบด้วย อี ปัจจัย ที่ใช้แทนความหมายต่างๆ ในที่นี้จะยกมาจากคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
ก. ธมฺมสํยุตฺตา ธมฺมี. (ที.อ. ๒/๒)
ถ้อยคำ อันประกอบด้วยธรรม ชื่อว่า ธมฺมี
ข. ธมฺมูปสญฺหิตฺตา ธมฺมโต อนเปตาติ ธมฺมี (ที.ฎี.๒/๒)
ถ้อยคำอันไม่ปราศจากธรรม เพราะประกอบมั่นคงด้วยธรรม ชื่อว่า ธมฺมี
ค. ธมฺเมน ยุตฺตา
คำพูดอันประกอบด้วยธรรม ชื่อว่า ธมฺมี
ง. ธมฺมสฺส ปติรูปา (สีฎี)ทั้งสอง ๑/๖๘)
คำพูดอันควรแก่ธรรม ชื่อว่า ธมฺมี
เราสามารถเลือกใช้ความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ท่านแนะแนวทางมาดังกล่าวนั้น ให้เป็นความหมายของคำว่า ธมฺมี
ส่วนคำว่า กถา ถือว่า เป็น นามที่ถูกคำว่า ธมฺมี มาขยาย หมายความว่า เมื่อกล่าวถึง ธมฺมี แต่เพียงอย่างเดียว ก็อาจไม่แน่ใจว่า ธมฺมี หมายถึง อะไร แต่เมื่อมีคำว่า กถา คำพูด มาต่อท้าย จึงได้ความว่า ได้แก่ กถา คือ คำพูดที่ประกอบด้วยธรรม เท่านั้น อย่างอื่นไม่ใช่. ในพระบาฬีมักจะใช้คำสองคำนี้ควบคู่กันไปอย่างแน่นอน.
ดังนั้น คำว่า ธมฺมี กถา ก็ถือว่า เป็นคำที่ถูกต้องเช่นกัน เพราะแยกออกมาระหว่าง ธมฺม และ กถา โดยฝากคำว่า ประกอบ เป็นต้นแฝงในคำว่า ธมฺม เป็น ธมฺมี เพราะมีหลักไวยากรณ์บอกว่า สามารถใช้ ปัจจัย คือ อี ต่อท้ายคำนาม แทนคำว่า มี หรือ ประกอบ แม้แต่คำอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร.
เป็นอันว่า ทั้ง ธมฺมิกถา ธมฺมกถา และ ธมฺมี กถา ถือว่า มีความหมายเดียวกัน ต่างกันเพียงบทพยัญชนะ ท่านนิยมเรียกบทที่แตกต่างกันโดยพยัญชนะว่า “นานาปาโฐ” มีรูปต่างกัน หรือ พฺยญฺชนานํ นานตฺตํ อตฺโถ ปน เอกโต. ต่างกันเพียงพยัญชนะ ส่วนความหมายเหมือนกัน.

ด้วยเหตุนี้ รูปว่า ธมฺมิกถา มีข้อสรุปเป็น ๓ กรณี คือ
๑) ในฉบับฉัฏฐฯ มักมีรูปที่แตกต่างจากฉบับสยามรัฐที่เป็น ธมฺมิกถา คือ
ก. ไม่เข้าสมาสว่า ธมฺมี กถา
ข. ถ้าเข้าสมาส ก็จะมีรูปว่า ธมฺมกถา และไม่ลง อิ อาคมเป็น ธมฺมิกถา ตามหลักการของคัมภีร์นิรุตติทีปนีนี้.
ค. สำหรับรูปว่า ธมฺมี ในข้อความว่า ธมฺมี กถา เป็นศัพท์ตัทธิตมาจาก ธมฺม + อี = ธมฺมี มีคำแปลอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามควรแก่อรรถของ อีปัจจัยนี้ เช่น
ก. ธมฺมสํยุตฺตา ธมฺมี. (ที.อ. ๒/๒)
ถ้อยคำ อันประกอบด้วยธรรม ชื่อว่า ธมฺมี
ข. ธมฺมูปสญฺหิตฺตา ธมฺมโต อนเปตาติ ธมฺมี (ที.ฎี.๒/๒)
ถ้อยคำอันไม่ปราศจากธรรม เพราะประกอบมั่นคงด้วยธรรม ชื่อว่า ธมฺมี
ค. ธมฺเมน ยุตฺตา
คำพูดอันประกอบด้วยธรรม ชื่อว่า ธมฺมี
ง. ธมฺมสฺส ปติรูปา (สีฎี)ทั้งสอง ๑/๖๘)
คำพูดอันควรแก่ธรรม ชื่อว่า ธมฺมี

๒) คำว่า ธมฺมิ  ใน ธมฺมิกถา ไม่ใช่การลง อีปัจจัยในตัทธิต เป็น ธมฺมีกถา แต่เป็นการลง อิ อาคมตามวิธีการของคัมภีร์นี้
๓) ความจริง จะกล่าวเพียง ธมฺมี ก็สามารถบ่งถึง กถา ได้แล้ว แต่การที่ระบุว่า กถา ลงไปอีก เพื่อย้ำว่า ที่ว่า ธมฺมี ประกอบด้วยธรรม ได้แก่ กถา เท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่กล่าวว่า ธมฺมี กถา โดยตัทธิตนัย ก็สามารถกล่าวได้อีกนัยหนึ่งโดยความเป็นบทสมาสว่า ธมฺมกถา หรือ ธมฺมิกถา ก็ได้ความเท่ากัน เพราะในเวลาที่จะอธิบายบทอัสสัตถิตัทธิตปัจจยันตบท คัมภีร์อรรถกถาฎีกาจะใช้ศัพท์ที่เกี่ยวกับการประกอบ มี สมฺปยุตฺต ประกอบ เป็นต้น เข้ามาอธิบาย เช่น
สตานุสารีติ ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติสมฺปยุตฺตํ
คำว่า สตานุสารี มีสติตามระลึก ได้แก่ ประกอบด้วยปุพเพนิวาสานุสติ. (ที.ปา.อ. ปาสาทิกสุตฺต)
บทสรุป
ไม่ว่าจะเป็น ธมฺมี กถา หรือ ธมฺมิกถา หรือ ธมฺมกถา ก็ไม่ขัดแย้งกันเลย ต่างกันเพียงบทพยัญชนะเท่านั้น.



***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น