เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
๑.
วิธีเรียงลำดับอักขระในภาษาบาลี
เนื่องจากภาษาบาลีเป็นภาษาที่เรียกว่า
ตันติภาษา แปลว่า มีระเบียบแบบแผน นอกจากระบบไวยากรณ์ที่เป็นตัวชี้ถึงความเป็นตันติภาษาแล้วนั้น
ยังมีแนวคิดที่แน่นอนในการลำดับอักขระ หรือแม้แต่ประโยคคำพูด ที่รวมกันขึ้นเป็นบทเทศนา
บทประพันธ์ หรือหนังสือต่าง ๆ อีกด้วย
เรื่องราวของการเรียงลำดับนั้นมีอยู่มากมาย
ทั้งนี้โดยอาศัยหลักการที่จะให้ผู้ฟังได้รับทราบถึงความเป็นไปพร้อมทั้งเหตุผลของสภาพหรือเนื้อความที่ได้แสดงไว้นั่นเอง
โดยยึดหลักการดังนี้ คือ
๑.
ลำดับโดยอาศัยหลักการแห่งความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ๆ
ที่มีการเกิดขึ้นเป็นลำดับ เรียกว่า อุปปัตติกมะ เป็นต้นว่า การเรียงโลภะ
ไว้เป็นลำดับแรก ก่อนโทสะ และโมหะ ก็อาศัยเหตุผลที่ว่า
ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายเมื่อแรกปฏิสนธิในภพนั้น กิเลสที่เกิดขึ้นเป็นอย่างแรก
ก็ได้แก่ โลภะ ที่เรียกว่า ภวนิกันติ คือ ความยินดีที่ติดใจอยู่ในภพ
ซึ่งเป็นสภาพของโลภะนั่นเอง หรือที่ในปฏิจจสมุปบาท
ท่านยกเอาอวิชชาเป็นลำดับแรกของสังสารวัฏฏ์
ก็เพราะอวิชชาเป็นต้นเหตุในการกระทำกรรมต่าง ๆ
ที่ให้สัตว์ต้องวนเวียนตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ดังนี้.
๒.ลำดับโดยอาศัยการแสดงที่เรียกว่า เทสนากมะ ได้แก่
ลำดับที่แสดงไว้โดยการเทศนา แม้แต่ลำดับแห่งการแสดงนี้
ก็ยังมีเหตุผลในการเรียงลำดับอีกด้วย มิใช่สักแต่ว่าเรียงตามลำดับเท่านั้น เช่น
ในขันธ์ ๕ แสดงรูปขันธ์เป็นลำดับแรก
ทั้งนี้ก็เพราะสัตว์ทั้งหลายโดยส่วนมาก มักลุ่มหลงอยู่ในกองรูป เป็นต้น
ซึ่งลำดับการแสดงนี้ได้พัฒนาขึ้นเป็นทฤษฎีต่าง ๆ อีกด้วย.
ดังนั้น การเรียงลำดับอักขระ ก็เรียงไปตามลำดับแห่งการแสดงที่เรียกว่า
เทสนากมะ
เพราะเป็นเรื่องหรือทฤษฏีที่อาจารย์ไวยากรณ์ทั้งหลายแสดงไว้โดยลำดับแห่งแห่งฐานเป็นต้น
ทั้งนี้ก็อาศัยเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งจะได้ศึกษากันสืบไป.
การเรียงลำดับของอักขระมีแนวคิดดังนี้
๑.
สระและพยัญชนะ เรียงสระก่อนพยัญชนะ เพราะอาศัยเหตุผลว่า สระเป็นนิสสัย
ที่อาศัย พยัญชนะ เป็นนิสสิต ผู้อาศัย
ดังนั้น ธรรมดาว่า ผู้ให้อาศัย ต้องมาก่อน ผู้อาศัย เปรียบเหมือนกับอาจารย์ผู้เป็นนิสสัย
ต้องมาก่อน (คือเป็นผู้นำ) ศิษย์ ผู้เป็นนิสสิต มาอาศัย หรือเปรียบเหมือนกับการสร้างบ้าน
ต้องมีสถานที่สร้างก่อน จึงจะสร้างบ้านได้.
๒. สระ มี ๒ อย่าง คือ เกิดในฐานเดียว
และเกิดใน ๒ ฐาน เรียงสระที่เกิดฐานเดียวก่อน เพราะมีจำนวนมากกว่า เช่น อ อา อิ อี
อุ อู เกิดในฐานเดียว มี ๖ ตัว ซึ่งมากกว่า พวกที่เกิดใน ๒ ฐาน คือ เอ โอ.
๓. ฐานมี ๖ ฐาน เรียงตามลำดับดังนี้
คือ ๑. กัณฐะ คอ ๒. ตาลุ เพดาน ๓. มุทธะ ปุ่มเหงือก ๔. โอฏฐะ ริมฝีปาก ๕. ทันตะ ฟัน
๖. นาสิก จมูก.
เพราะเหตุนั้น สระที่เกิดฐานเดียว มี ๓
พวก คือ กัณฐชะ เกิดในคอ ตาลุชะ
เกิดที่เพดาน โอฏฐชะ เกิดที่ริมฝีปาก เรียงไปตามลำดับฐาน
นั่นก็คือ เรียง อ อา ซึ่งเกิดที่คอ ไว้ก่อนอิ อี ซึ่งเกิดที่เพดาน
แล้วเรียงอุ อู ซึ่งเกิดที่ริมฝีปาก ไว้เป็นลำดับสุดท้าย.
๔.
ในสระที่เกิดฐานเดียวกันนั้น ในกัณฐชะ เรียงตามลำดับลหุ ครุ คือ เรียงลหุ
ก่อนครุ ได้แก่ เรียง อ ไว้ก่อน อา
เพราะ อ มีเสียงสั้นเป็น ลหุ อา
มีเสียงยาว เป็น ครุ ดังนี้เป็นต้น.
๕.
ในสระที่เกิด ๒ ฐานนั้น เรียง เอ ไว้ก่อน โอ เพราะ เอ เกิดในฐานทั้ง ๒
ที่ตั้งอยู่ก่อน คือ คอและเพดาน ส่วน โอ
เกิดที่ คอและริมฝีปาก ซึ่งอยู่ข้างหลัง.
๖.
พยัญชนะ ที่มี ๒ อย่างคือ พยัญชนะวรรคและอวรรค เรียงพยัญชนะวรรคไว้ก่อน
พยัญชนะอวรรค เพราะมีจำนวนมากกว่า .
๗.
พยัญชนะวรรคนั้น มี ๕ คือ กวรรค จวรรค ฏวรรค ตวรรค ปวรรค
เพราะแบ่งออกตามฐาน เรียงกวรรคไว้ก่อน เพราะเกิดที่กัณฐฐาน เรียงจวรรค
เป็นต้นไปตามลำดับเหมือนกับสระ.
๘.
ในพยัญชนะวรรค แต่ละวรรคนั้น มี ๒ อย่าง คือ โฆสะ อโฆสะ เรียงอโฆสะ ก่อน
เพราะมีเสียงเบา เช่น ใน กวรรค นั้น ก ข
เป็นอโฆสะ ค ฆ ง เป็นโฆสะ เรียง ก ไว้ก่อน ข และเรียง ค ไว้ก่อน ฆ เพราะก และ ค
เป็นสิถิละ มีเสียงเบากว่า ข และ ฆ ซึ่งเป็นธนิตะ ส่วนพยัญชนะที่สุดวรรค
นั้นเป็นโฆสาโฆสวิมุตตะ จึงเรียงไว้สุดท้าย.
ข้อสังเกต แม้โฆสะ
จะมีจำนวนมากกว่า ก็ไม่ถือเอากฏเกณฑ์นั้น แต่เอาหลักเพียงว่า
ที่มีเสียงเบาเอาขึ้นหน้าก่อน.
แม้ในวรรคอื่น ๆ ก็ถือเอานัยเช่นนี้.
๙.
ในพยัญชนะอวรรคนั้น เรียงโฆสะไว้ก่อน เพราะโฆสะมีจำนวนมากกว่า คือ ย ร ล ว
ห ฬ แล้วเรียงอโฆสะคือ ส ไว้ทีหลัง เพราะมีจำนวนน้อยกว่า
๑๐.
ในบรรดาโฆสะนั้น เรียงไปตามลำดับฐาน คือ ย เกิดที่ตาลุเรียงไว้ลำดับแรก
แล้วเรียงร ล ว ที่เกิดตามลำดับฐาน คือ มุทธะ ทันตะ ทันตนาสิกะไปตามลำดับ
๑๑. ส่วน ห นั้น
ถึงเกิดในกัณฐะฐานและเป็นโฆสะ ท่านเรียงไว้ลำดับหลัง ส
ก็เพราะประสงค์จะให้รู้ว่า
ในไวยากรณ์เองก็ดี ในพระไตรปิฎกก็ดี ยังมีข้อยกเว้น คือ เรียงไว้ผิดลำดับก็มี.
๑๒. ส่วน ฬ ที่ไว้สุดท้าย
ก็เพราะถือว่า เหมือนกับ ล นั่นเอง เพราะชนบางพวกกล่าว ล ไว้ในที่เป็น ฬ ก็มี
บางพวกกล่าวตัว ฑ ไว้ในที่ ฬ นั้น เพราะเป็นมุทธชะและโฆสะ หรืออาจเป็นเพราะถือว่าเป็นข้อยกเว้น
เช่นเดียวกับ ห นั่นเอง
๑๓.
นิคคหิต ท่านเรียงเอาไว้ในที่สุดของพยัญชนะทั้งปวงทีเดียว เพราะไม่มีเสียง
ไม่มีพวกและพ้นจากโฆสะและอโฆสะ นั่นเอง.
v
๒.
หลักเกณฑ์ไวยากรณ์ภาษาบาลีเป็นเยภุยยนัย
คือ เป็นนัยที่กล่าวไว้โดยมาก
ภาษาบาลี ก็คงเหมือนกับทุกภาษาในโลก
คือ กล่าวถึงสิ่งที่คนส่วนมากยอมรับและนำมาใช้กันโดยแพร่หลาย ดังนั้น กฎเกณฑ์ต่าง
ๆ จึงมีข้อยกเว้นเสมอ ทั้งนี้เพราะหากจะกล่าวให้หมดสิ้นคงจะเป็นไปไม่ได้แน่ ดังนั้น
ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงหาทางออกให้สิ่งที่เป็นข้อยกเว้นในเรื่องนี้ไว้
โดยวางแนวทางไว้อย่างหนึ่ง คือ ให้เอาหลักเกณฑ์ที่วางไว้แล้วนั้น เป็นเยภุยยนัย
นัยที่กล่าวถึงส่วนมากไว้. นอกจากนี้ คำบางคำ ที่อยู่นอกจากกฎเกณฑ์
หรือใช้กันมาก่อนที่จะเกิดระบบไวยากรณ์ ก็มี ซึ่งไม่สามารถจัดเข้าระบบได้
แต่เมื่อใช้กันมานานแล้ว ก็อนุโลมใช้กัน และให้ชื่อว่า เป็นพวกวิปัลลาส ได้แก่
ลิงควิปัลลาส วจนวิปัลลานฃส วิภัตติวิปัลลาส .
เพราะเหตุนั้น
เมื่อเราไปพบคำศัพท์บางคำในพระไตรปิฎก ที่นอกเหนือไปจากไวยากรณ์ที่เคยเรียนมา
ก็อย่าได้นำมาใส่ใจหรือระบุว่า สิ่งนั้นผิด ขอให้ถือว่า เป็นคำที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้นั่นเอง.
v
๓. บาลีไวยากรณ์ที่เรียนกันในสมัยนี้
การเรียนบาลีในสมัยนี้
แยกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.
ไวยากรณ์ตามหลักสูตรเปรียญธรรม
๒. ไวยากรณ์ตามคัมภีร์สัททาวิเสส
ไวยากรณ์หลักสูตรเปรียญธรรม หมายถึง
บาลีไวยากรณ์ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ขึ้นนั่นเอง
โดยที่ได้เล็งเห็นความยากลำบากในการศึกษาภาษาบาลีในยุคก่อน เพราะต้องท่องจำสูตรทำตัวรูปต่าง
ๆ เป็นอันมากให้จำได้เสียก่อนแล้วจึงมาเรียน ซึ่งทั้งยากและเสียเวลามาก จึงทำให้ผู้แรกศึกษาเกิดความท้อแท้และพาให้เลิกศึกษาไปเสีย
แล้วทรงรวบรวมขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยเนื้อหาสาระในคัมภีร์สัททาวิเสส ที่เป็นหลักไวยากรณ์โดยตรงเหล่านั้น
ซึ่งใช้คำพูดที่ง่าย ๆ อันเป็นสำนวนในภาษาไทย อธิบายหลักการสร้างรูปคำขึ้น
และคัดเอาแต่ที่เป็นพื้นฐานสำหรับผู้ที่เริ่มเรียนให้เป็นข้อกำหนดจดจำอย่างง่าย ๆ
แม้ว่าบาลีไวยากรณ์นี้ จะมีสำนวนที่ง่ายต่อการเรียนรู้ แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดที่เป็นส่วนเบื้องสูงไว้
ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า ยังไม่พอต่อการนำไปใช้ค้นคว้าหลักธรรมในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่นพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นต้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม นับว่า ไวยากรณ์เล็กนี้
เป็นอุปการะต่อการศึกษาภาษาบาลีเป็นอย่างมาก เพราะจัดว่าเป็นพื้นฐานการศึกษาเป็นอย่างดีทีเดียว
๒.
ไวยากรณ์ตามคัมภีร์ไวยากรณ์ ได้แก่
การศึกษาไวยากรณ์ในคัมภีร์ไวยากรณ์(ที่เรียกว่า คัมภีร์สัททาวิเสส)โดยตรง และเป็นการศึกษาโดยละเอียด
มีเนื้อหากว้างขวางครอบคลุมหลักภาษาได้ทั้งหมด ซึ่งคัมภีร์ไวยากรณ์ใหญ่นี้ มีหลายคัมภีร์
และหลายแนวทาง บางคัมภีร์มุ่งอธิบายหลักภาษาอย่างเดียวกัน เช่น กัจจายนวยากรณ์
โมคคัลลานวยากรณ์ เป็นต้น บางคัมภีร์มุ่งอธิบายหลักภาษาโดยรวมกับความหมายของบทต่าง
ๆ (คล้าย ๆ กับสารานุกรม) เช่น สัททนีติปกรณ์ เป็นต้น
บางคัมภีร์มุ่งถึงการประพันธ์คำฉันท์อย่างเดียว เช่น วุตโตทัยปกรณ์เป็นต้น
บางคัมภีร์มุ่งถึงการรจนาหนังสือ เช่น สุโพธาลังการะเป็นต้น
บางคัมภีร์มุ่งกล่าวถึงคำศัพท์อย่างเดียว เป็นปทานุกรม เช่น อภิธานัปปทีปิกา
เป็นต้น
ก่อนนี้
ผู้จะเริ่มศึกษาพระธรรม จำเป็นจะต้องศึกษาคัมภีร์ไวยากรณ์เหล่านี้ให้แตกฉานเสียก่อน
จึงจะสามารถเข้าไปศึกษาในคัมภีร์ต่าง ๆ ได้
เพราะไม่มีคำแปลให้ศึกษาเหมือนในสมัยนี้
ต่อมา
เมื่อการศึกษาบาลีไวยากรณ์ตามหลักสูตรเปรียญธรรมเกิดขึ้นและเป็นหลักสูตรสำหรับพระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนแล้ว
ความนิยมในการศึกษาคัมภีร์ไวยากรณ์เริ่มหมดลง
เพราะมีความยากลำบากและไม่มีการเรียนเป็นหลักสูตรภาคบังคับเหมือนแต่ก่อน (แต่ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น พม่า
เป็นต้น ยังคงศึกษาและเป็นหลักสูตรเรียนอยู่) เมื่อเป็นเช่นนี้ ไวยากรณ์ใหญ่
นี้ก็เริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้ศึกษาพระธรรม
เหลือแต่เพียงไวยากรณ์ตามหลักสูตรเปรียญธรรมเท่านั้น.
อย่างไรก็ตาม การศึกษาไวยากรณ์จากคัมภีร์ไวยากรณ์นี้ก็เริ่มกลับเข้าเป็นที่สนใจในหมู่นักศึกษาอีกครั้งหนึ่ง
เพราะมีการเปิดหลักสูตรเล่าเรียนและได้สร้างบุคลากรขึ้นเป็นจำนวนมาก
จนกระทั่งมีการสร้างหลักสูตร
จัดทำตำราหรือคู่มือเพื่อเจาะลึกถึงสาระในคัมภีร์เหล่านั้นขึ้น
โดยไม่ได้ทอดทิ้งแนวทางการศึกษาแบบเดิมเลย นับว่า
เป็นแนวทางที่จะทำให้การศึกษาคัมภีร์ไวยากรณ์ได้เจริญรุดหน้าไปอีก.
แม้ว่าไวยากรณ์ตามหลักสูตรเปรียญธรรมจะมีรายละเอียดค่อนข้างน้อย
แต่ก็เป็นสร้างพื้นฐานบาลีให้แน่น
ก่อนไปหาความรู้เพิ่มเติมในคัมภีร์ไวยากรณ์ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น แม้การจะเรียนบาลีให้ได้ผลดีนั้น
ก็ควรจะเรียนในคัมภีร์ไวยากรณ์ เพราะมีเนื้อหาครบถ้วน แต่กระนั้น
การศึกษาก็มีหลายระดับขั้นตามพื้นฐานของสามารถทางปัญญาของผู้เรียน
บางท่านไปเริ่มเรียนในคัมภี์ไวยากรณ์ซึ่งมีความซับซ้อนทั้งทางไวยากรณ์และสำนวนภาษาในการแต่งคัมภีร์
ก็อาจจะท้อแท้และเลิกเรียนไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ควรเริ่มที่ไวยากรณ์หลักสูตรเปรียญเสียก่อน
นัยว่า เป็นพื้นฐานการเรียน
อุปมาเหมือนกับการเริ่มเรียนชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา ในการศึกษาทางโลก
ฉะนั้น. และเมื่อเรียนไวยากรณ์เล็กไปแล้ว
ควรหาความรู้เพิ่มเติมในคัมภีร์ไวยากรณ์ชั้นสูงสืบไป เหมือนกับเป็นการค้นคว้า
วิจัยในขั้นสูงของนักศึกษาชั้นอุดมศึกษา ฉะนั้น.
v
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น