14/10/56

๗. ประเภทอักษรตามประเภทแห่งลักษณการออกเสียง

อักษรแบ่งออกตามประเภทแห่งลักษณะการออกเสียง ดังนี้
  ๒๐. ทีฆะ  กับ  รัสสะ
            ก่อนอื่นต้องรู้จักคำว่า มาตรา ก่อน มาตรา คือ ระยะเวลาในการออกเสียง
1 มาตรา มีเวลาประมาณกระพริบตาครั้งหนี่ง หรือดีดนิ้วมือครั้งหนึ่ง เทียบกับเวลา ได้ประมาณ ครึ่งวินาที.
            รัสสะ คือ อักษรที่ออกเสียงไว คือ คือใช้เวลาสั้น เพียง๑ มาตรา (ครึ่งวินาที)
            ทีฆะ คือ อักษรที่ออกเสียงยาว คือใช้เวลา ๒ มาตรา (๑ วินาที)
            - สระ อ  อิ  อุ  เป็นรัสสะ เพราะใช้เวลาเพียง ๑ มาตรา (ครึ่งวินาที)
            - สระ อา อี อู เอ โอ เป็นทีฆะ เพราะใช้เวลา ๒ มาตรา (๑ วินาที)
            - สระที่มีพยัญชนะสังโยคอยู่เบื้องหลัง ใช้เวลา ๓ มาตรา ( ๑วินาทีครึ่ง)
            - พยัญชนะที่ไม่ประกอบสระมีเพียง ครึ่งมาตรา (๑/๔ วินาที)
            - พยัญชนะที่มีพยัญชนสังโยค (ตัวควบ) เช่น กฺวจิ เป็นต้น ออกเสียงครึ่งมาตรา
(๑/๔ วินาที)
       ข้อสังเกต  คำว่า ทีฆะและรัสสะ นี้ใช้เรียกเฉพาะ สระ เท่านั้น แม้พยัญชนะที่ไม่ประกอบกับสระมีเพียง ครึ่งมาตราเท่านั้น ไม่เรียกว่า เป็นรัสสะ.  และคำว่า รัสสะ นี้ก็รวมเอาสระที่มีพยัญชนะผสมอยู่ด้วย เช่น ก กิ กุ ดังนั้น รัสสะ  จึงรวมเอาอักษรที่มีเวลาออกเสียง  ๑ มาตราครึ่งไว้ด้วย (อ ๑ มาตรา + พยัญชนะ ๑/๒ มาตรา รวมเป็น๑ มาตราครึ่ง) ส่วนทีฆะ ก็มีนัยเช่นนี้ รวมไปถึงสระที่ออกเสียงรวมกับพยัญชนะ เช่น กา กี กู เป็นต้น ที่มี  ๒ มาตราครึ่ง ไว้ด้วย. จึงพอสรุปได้ว่า รัสสะ ออกเสียง ๑ มาตราไม่เกิน ๒ มาตรา  ทีฆะ ออกเสียงตั้งแต่ ๒ มาตราขึ้นไป. 
     ๒๑. ครุ กับ ลหุ
- ครุ เป็นสระที่มีเสียงหนัก ได้แก่
๑. ทีฆสระล้วน ๆ ที่ไม่ได้ประกอบด้วยพยัญชนะสังโยค เช่น ภูปาโล เป็นต้น
๒. รัสสสระที่มีสังโยคและนิคคหิตอยู่เบื้องหลังเช่น มนุสฺสินฺโท ทตฺวา เป็นต้น ในคำว่า มนุสฺสินฺโท สระอุ ที่ มนุ นั้นเป็นครุ , คำว่า ทตฺวา นั้น ท อักษรที่ประกอบด้วยสระ อ เป็นครุ ต้องออกเสียงหนัก
- ลหุ เป็นสระที่มีเสียงเบา ได้แก่ รัสสสระล้วน ๆ ที่ไม่ได้ประกอบด้วยพยัญชนสังโยคและนิคคหิตอยู่เบื้องหลัง เช่น ปติ มุนิ เป็นต้น

พยัญชนะแบ่งออกตามลักษณะเสียง ดังนี้
๒๒.    อโฆสะ  กับ  โฆสะ
-            อโฆสะ เสียงไม่ก้อง มีลักษณะเสียงที่น้อยและค่อย มี ๑๑ ตัวได้แก่ พยัญชนะที่ ๑ และที่ ๒ ของแต่ละวรรค ได้แก่ ก ข, จ ฉ, ฏ , ต ถ, ป ผ  และ
ในพยัญชนะอวรรค คือ ส
-            โฆสะ เสียงก้อง มีลักษณะเสียงที่มากและแรง มี ๒๑ ตัว คือ พยัญชนะ ตัวที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ของแต่ละวรรค ได้แก่ ค ฆ ง,  ช ฌ ย, ฑ ฒ ณ, ท ธ น, พ ภ ม, และพยัญชนะอวรรคที่เหลือ คือ ย ร ล ว ห ฬ
ส่วน อํ นิคคหิต นั้น ไม่จัดเป็นทั้งโฆสะและอโฆสะ เรียกว่า
โฆสาโฆสวิมุติ เป็นพยัญชนะที่มีเสียงขึ้นจมูก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นาสิก เพราะเกิดที่นาสิกฐาน.
๒๓.  สิถิละ กับ ธนิต
-            สิถิละ เสียงหย่อน หรืออ่อน ได้แก่ เสียงเบา ได้แก่ พยัญชนะตัวที่ ๑ และที่ ๓ ของแต่ละวรรค คือ ก ค, จ ช, ฏ ฑ,  ต ท, ป พ
-            ธนิตะ เสียงแข็ง หรือตึง ได้แก่ เสียงดัง ได้แก่ พยัญชนะตัวที่ ๒ และที่ ๔ ของแต่ละวรรค คือ ข ฆ, ฉ ฌ, ฒ, ถ ธ, ผ ภ
 ข้อควรกำหนด
๑. เสียงอโฆสะและโฆสะ พบได้ในพยัญชนะวรรค และพยัญชนะอวรรค.    
แต่เสียงสิถิละและธนิตะ พบได้เฉพาะพยัญชนวรรคเท่านั้น
๒. อโฆสะ โฆสะ เป็นเสียงที่ก้องตามธรรมชาติของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น
จึงไม่ต้องใช้ความพยายามในการออกเสียงให้ก้อง  แต่ สิถิละ ธนิตะ เป็นเสียงที่ต้องใช้ความพยายามในการออกเสียงให้ดัง หรือ ค่อย
            เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีลำดับความดังและเบาของเสียงดังนี้
พยัญชนะที่เป็นทั้งสิถิละและอโฆสะ จะออกเสียงเบาที่สุด
พยัญชนะที่เป็นทั้งธนิตะและอโฆสะ จะมีเสียงดังเป็นลำดับที่ ๒
พยัญชนะที่เป็นทั้งสิถิละและโฆสะ จะมีเสียงดังเป็นลำดับที่ ๓
พยัญชนะที่เป็นทั้งธนิตะและโฆสะ จะมีเสียงดังที่สุด.
                        ๓.  คำว่า ดัง นี้ ไม่ใช่การตะโกน ตะคอกหรือขู่ แต่อย่างใด และคำว่า เบานี้ ก็มิใช่เสียงเบามาก ดุจเสียงกระซิบ แต่ควรกำหนดว่า สิถิละ คือ อักษรที่อ่อน หรือเสียงเบา,
                        ส่วนธนิตะ คือ อักษรที่มีเสียงแข็ง หรือเสียงดัง  เป็นเพียงเสียงที่ดังกว่าสิถิละเท่านั้น ฉะนั้น จึงมีความหมายว่า เวลาออกเสียงอักษรให้พยายามออกเสียงให้ต่างกันพอสมควรเท่านั้น. 
***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น