สนธิวิธาน
การแสดงวิธีการประกอบสนธิ
ความหมายของสนธิ
ในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์กล่าวว่า
“ในภาษาบาลี
มีวิธีต่อศัพท์และอักขระ ให้เนื่องกันด้วยอักขระ เพื่อจะย่นอักขระให้น้อยลง
เป็นการอุปการะในการแต่งฉันท์ และให้คำพูดสละสลวย
เรียกว่า สนธิ. แต่มิใช่สมาส ที่ย่นบทวิภัตติหลายๆ บทให้เป็นบทเดียวกัน ซึ่งจะกล่าวในวจีวิภาคข้างหน้า.
การต่อมี
๒ คือ ต่อศัพท์ที่มีวิภัตติ ให้เนื่องด้วยศัพท์ที่มีวิภัตติ เช่น จตฺตาโร อิเม ต่อเข้าเป็น จตฺตาโรเม เป็นต้น
อย่าง ๑. ต่อบทสมาส ย่ออักษรให้น้อยลง
เหมือนกตอุปกาโร ต่อเข้าเป็น กโตปกาโร เป็นต้นอย่าง ๑.”
คัมภีร์สัททนีติ ให้ความหมายว่า
"สนฺธิยนฺติ
เอตฺถ ปทานิ อกฺขรานิ จาติ สนธิ, สํหิตปทํ.
แปลความว่า บทก็ดี อักขระก็ดี เชื่อมต่อกัน ณ ตำแหน่งนี้ จึงเรียกว่า สนธิ,
อธิบายว่า คือ คำที่ต่อกันหรือรวมเข้าด้วยกัน"
และยังได้พรรณนาถึงประโยชน์และความจำเป็นในการสนธิว่า
จริงอยู่
พระโบราณาจารย์ ได้แสดงสนธิเหล่านั้น โดยยังความถึงพร้อมแห่งพยัญชนะ ๑๐ ประการ
มีสิถิละเป็นต้น ที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาพระวินัย[๑]
ไม่ให้บกพร่องโดยหลีกเลี่ยงโทษมีพยางค์เกินจำนวนเป็นต้น
และแสดงความสมบูรณ์แห่งบทพยัญชนะ, ความสมบูรณ์แห่งอรรถ,
ความสมบูรณ์แห่งฉันท์และอลังการะอันเป็นที่น่าพอใจ
ตามความเหมาะสมเพื่อรักษาฉันท์ในคาถาและเพื่อออกเสียงได้โดยง่ายในจุณณีย[๒]บททั้งหลาย."
(สัททนีติ สุตฺตมาลา แปล หน้า 33)
ประเภทของสนธิ
ในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์และคัมภีร์สัททาวิเสสที่เป็นหลักใหญ่
ๆ ๓ คัมภีร์ คือ กัจจายนะ สัททนีติ และโมคคัลลานะ[๓] แบ่งสนธิออกเป็น
๓[๔] คือ
๑.
สรสนธิ ต่อสระ.
๒.
พยัญชนธิ ต่อพยัญชนะ
๓.
นิคคหิตสนธิ ต่อนิคคหิต
นอกจากนี้ ในสัททนีติ ยังกล่าวสนธิอีก ๒
ประเภท คือ
๑.
ปทสนธิ คือ การสนธิระหว่างบทต่อบท[๕]
เช่น ตฺตร+อยํ เป็น ตฺตรายํ. ซึ่งเป็นวิธีการที่สนธิระหว่างคำหนึ่งกับอีกคำหนึ่ง
จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สนธิภายนอก หรือสนธิระหว่างคำ. สนธิประเภทนี้ ได้แก่
สนธิที่กำลังเรียนอยู่นี้.
๒.
วัณณสนธิ คือ การสนธิระหว่างอักขระกับอักขระ (หรือพยางค์กับพยางค์) เช่น
ขตฺติยา เป็น ขตฺยา. เป็นวิธีที่สนธิระหว่างตัวอักษรกับอักษรในบทหนึ่งๆ
จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สนธิภายใน. สนธิประเภทนี้ ได้แก่
วิธีการสำเร็จรูปเป็นบทนามเป็นต้น.
[๑] ในปริวารวรรคอรรถกถากล่าวว่า
"ภิกษุผู้จะสวดกรรมวาจา พึงสนใจให้ดีซึ่งประเภทแห่งพยัญชนะ
ที่ท่านกล่าวไว้ว่า พยัญชนะพุทธิ ความแตกฉานด้วยปัญญาเครื่องรู้พยัญชนะ ๑๐ อย่าง
คือ สิถิล ธนิต ทีฆะ รัสสะ ครุ ลหุ นิคคหิต สัมพันธ์ ววัตถิตะ วิมุตต์ เป็นต้น”
ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่10หน้า 990 - 992
[๒] คำว่า
จุณณียบท หมายถึง
บทกระจัดกระจายที่ยังมิได้กำหนดคณะครุ ลหุ ตามฉันทลักษณ์. (จุณฺณีย บทอันกระจาย)
ตรงกับร้อยแก้วในภาษาไทย ส่วนบทที่กำหนดด้วยคณะครุลหุ เรียกว่า ร้อยกรอง.
[๓] คัมภีร์ทั้ง
๓ นั้น จัดเป็นคัมภีร์ที่แสดงหลักไวยากรณ์ทางภาษาบาลีที่สำคัญ
มีเนื้อหาที่ครอบคลุมกฏเกณฑ์หรือถ้อยคำที่ปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนาทุกระดับ
ดังนั้นการเรียนภาษาบาลีควรจะได้ศึกษาจากคัมภีร์เหล่านี้โดยตรง
(หรือคัมภีร์ที่เป็นคัมภีร์ลูกสาย). ในที่นี้จะนำมาจากคัมภีร์ทั้ง ๓ เหล่านี้มาแสดงโดยยึดโครงสร้างหรือแนวทางในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์นั้น แล้วนำสารัตถะที่มาในคัมภีร์สัททาวิเสสที่เป็นหลักฐานสำคัญมาอธิบายประกอบโดยยกสูตรที่สำเร็จรูปนั้นมาให้ดูด้วย.
[๔] คัมภีร์ปทรูปสิทธิ
แสดงว่า มี ๔ ประเภทคือ แยก ปกติสนธิ วิธีที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย
เพียงแต่นำมาต่อกันเท่านั้น เป็นอีกประเภทหนึ่ง.
[๕]
คำว่า
บท นี้ เป็นคำนามที่ประกอบวิภัตติแล้ว
นอกจากนี้
ยังได้แก่ คำอัพยศัพท์ที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำนามที่ประกอบวิภัตติแล้วด้วย
ส่วนคำที่ยังมิได้ประกอบวิภัตติ ท่านไม่เรียกว่า บท แต่เรียกว่า อักขระบ้าง
พยัญชนะบ้าง สระบ้าง วัณณะบ้าง ธาตุบ้าง ลิงค์บ้าง ตรงกับความในภาษาไทยว่า พยางค์
ดังนี้ ขัอนี้ในคัมภีร์สัททนีติให้นิยามไว้ว่า "วิภตฺยนฺตมวิภตฺยนฺตํ วา
อตฺถโชตกํ ปทํ บท คือ
คำซึ่งแสดงความหมายทั้งที่มีวิภัตติอยู่ท้ายหรือไม่มีวิภัตติอยู่ท้าย". พึงเห็นความดังนี้ หลายพยางค์รวมเป็นบท,
หลายบทรวมกันเป็นวากยะ หรือประโยค.
ความจริง เรื่องสนธินี้ แม้ในคัมภีร์ไวยากรณ์ต่างๆ จะแสดงไว้เป็นลำดับแรก เพื่อมุ่งให้ผู้ศึกษาได้ทราบวิธีการเชื่อมบท อันเป็นพื้นฐานในการประกอบรูปศัพท์ ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคำนาม กิริยา บทสมาส ตัทธิต กิตก์ ก็ตาม. แต่กระนั้น ก็อาจสร้างความงุนงงให้แก่ผู้เริ่มศึกษาได้ไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ อาจารย์บางท่านแนะนำว่า สามารถจะนำไปศึกษากันเป็นลำดับสุดท้าย ก็ได้ เพราะได้คุ้นเคยกับบทต่างๆดีแล้ว. แต่ในที่นี้ จะนำเสนอไปตามลำดับที่โบราณาจารย์ท่านได้ไว้ดีแล้ว ขอให้ผู้ศึกษามีความอดทนสังเกตการประกอบบทต่างๆ โดยการเชื่อมกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีต่อไป.
ตอบลบ(ต่อ) อนึ่ง ถ้าผู้ศึกษาท่านใด ใคร่จะข้ามไปศึกษาคำนามก่อน ก็พอได้ครับ แต่คงต้องรออีกระยะหนึ่ง เพื่อให้นำเสนอสนธิวิธานให้จบก่อนครับ
ตอบลบ