29/10/56

๑๘ สระสนธิ วิการสนธิ

          ๒.  วิการสรสนธิ การทำให้ผิดไปจากของเดิม.   ในแบบเรียนท่านแสดงว่ามี ๒ นัย คือ วิการในเบื้องปลาย และวิการในเบื้องต้น
         ๑) วิการในเบื้องปลาย มีสูตรและวิธีการทำสนธิ ตามที่คัมภีร์กัจจายนะ แสดงไว้ในสูตรว่า
         กฺวจาสวณฺณํ ลุตฺเต (กัจจ. 14, รูป. 16)
         เมื่อสระหน้า ถูกลบแล้ว, สระหลัง เป็นสระอสวัณณะบ้าง.
อธิบาย. เมื่อสระหน้าที่มีรูปไม่เหมือนกัน (คือ มีวัณณะต่างกัน กับสระหลังที่เป็น อิ อี และ อุ ได้แก่ อ อา) ถูกลบไปแล้ว สระหลัง ที่เป็น อิวัณณะ (อิ อี) และอุ จะเปลี่ยนเป็น อสวัณณะ (สระที่มีเสียงต่างกัน คือ ไม่มีฐานและกรณ์ที่เหมือนกัน) คือ  เอ โอ หมายความว่า อิ อี จะเป็น เอ,  อุ จะเป็น โอ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า อิ อี กับ เอ, อุ กับ โอมีฐานเสียงที่ใกล้เคียงกัน.
ศัพท์เหล่านี้เป็นอาเทสสรสนธิ
พนฺธุสฺส + เอว เป็น พนฺธุสฺเสว
ยถา + อุทเก เป็น ยโถทเก
อุป + อิกฺขติ  เป็น อุเปกฺขติ
ชิน + อีริตํ เป็น ชิเนริตํ
อุป + อิโต เป็น อุเปโต
น + อุเปติ  เป็น โนเปติ
อว + อิจฺจ เป็น อเวจฺจ
จนฺท + อุทโย เป็น จนฺโททโย
ข้อยกเว้น
         ในบางอุทาหรณ์ คือ ตตฺริเม, ยสฺสินฺทฺริยานิ, มหิทฺธิโก, สพฺพีติโย, เตนุปสงฺกมิ, โลกุตฺตโร.   ไม่ต้องวิการ อิ เป็น เอ และอุ เป็น โอ. 
         หมายความว่า เมื่อเข้าเกณฑ์สูตรนี้ได้ ก็ใช่ว่าจะต้องมีการทำเป็น เอ โอ ไปเสียทุกบทไป. เพราะบางบทถ้าทำไปก็อาจจะขัดต่อพระพุทธพจน์ได้.
         คำว่า ลุตฺเต ลบแล้ว มีประโยชน์ในการห้ามทำเป็น เอ โอ ในที่ไม่ได้ลบสระ.
            หมายความว่า ถ้าในบทที่ยังไม่ได้ลบสระ ก็ไม่เข้าเกณฑ์ของสูตรนี้ เช่นในอุทาหรณ์นี้ว่า "ฉ อิเม ธมฺมา,  ยถา อิทํ , กุสลสฺส อุปสมฺปทา"
         คำว่า อสรูเป มีรูปไม่เหมือนกัน มีประโยชน์ในการห้ามทำเป็น เอ โอ ในที่มีสรูปสระ (สระอันมีวัณณะเสมอกัน).
            หมายความว่า ในที่เป็นสรูปะกัน ห้ามทำเป็น เอ โอ คือ ถ้าสระหน้า ก็เป็น อิ หรือ อุ เหมือนกัน ไม่เข้าเกณฑ์สูตรนี้ เช่น จตฺตาริ อิมานิ เป็น จตฺตาริมานิ, มาตุ อุปฏฺฐานํ เป็น มาตุปฏฺฐานํ
         ส่วนในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ก็มีนัยเช่นนี้.

         ๒) วิการในเบื้องต้น ในกัจจายนะและปทรูปสิทธิ มิได้แสดงไว้ แต่ในสัททนีติท่านแสดงสูตรไว้ว่า
         35. สเร  ปุพฺโพ
         เมื่อลบสระหลังแล้ว เอาสระหน้าเป็นสระอสวัณณะได้บ้าง.
อธิบาย สูตรนี้ เมื่อลบสระต้นของบทหลังแล้ว จึงวิการสระท้ายของบทหน้าเป็น เอ โอ ได้บ้าง. เช่น ในคำว่า มุนิ + อาลโย เป็น มุเนลโย ,  รถี + อุสโภ เป็น รเถสโภ,  สุ + อิตฺถี
เป็น โสตฺถี (หญิงงาม)
         และด้วยคำว่า ได้บ้าง นี้ ในบางอุทาหรณ์ก็ไม่แปลงเป็น เอ โอ เช่น  อุจฺฉุ + อิว เป็น อุจฺฉุว.

         ส่วนในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ก็มีนัยเช่นนี้.

21/10/56

๑๗. ศึกษาเปรียบเทียบกับที่มาในหนังสือแบบเรียนบาลีไวยากรณ์

ส่วนในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ท่านแสดงไว้ ดังนี้คือ
         “โลปะ ที่ต้นมี ๒ คือ ลบสระหน้า ๑ ลบสระหลัง ๑
         สระที่สุดของศัพท์หน้า เรียกว่า สระหน้า, 
         สระหน้าของศัพท์หลัง เรียกว่า  สระหลัง.
         เมื่อสระทั้ง ๒ นี้ ไม่มีพยัญชนะอื่นคั่นในระหว่าง ลบได้ตัวหนึ่ง.  ถ้าพยัญชนะอื่นคั่นในระหว่าง ลบไม่ได้.
         ลบสระเบื้องต้น ท่านวางอุทาหรณ์ไว้ดังนี้
         ยสฺส อินฺทฺริยานิ,  ลบสระหน้า คือ อ ในที่สุดแห่งศัพท์ ยสฺส เสีย สนธิเป็น ยสฺสินฺทฺริยานิ,
         โนหิ เอตํ ลบสระหน้า คือ อิ ที่สุดแห่ง ศัพท์ โนหิ เสีย สนธิเป็น โนเหตํ.
         สเมตุ อายสฺมา ลบสระหน้า คือ อุ ที่สุดแห่งศัพท์ สเมตุ เสีย สนธิ เป็น สเมตายสฺมา.
         ในอุทาหรณ์เหล่านี้
         สระหน้าเป็นรัสสะ สระเบื้องปลายอยู่หน้าพยัญชนะสังโยคบ้าง เป็นทีฆะบ้างจึงเป็นแต่ลบสระหน้าอย่างเดียว.
         ถ้าสระทั้งสอง เป็นรัสสะ มีรูปเสมอกัน คือ เป็น อ หรือ อิ หรือ อุ ทั้ง ๒ ตัว เมื่อลบแล้ว ต้องทำสระที่ไม่ได้ลบด้วยทีฆะสนธิที่แสดงไว้ข้างหน้า เหมือนอุ.ว่า ตตฺร อยํ เป็น ตตฺรายํ เป็นต้น.
         ถ้าสระทั้ง ๒ เป็นรัสสะ แต่มีรูปไม่เสมอกัน คือ ข้างหนึ่งเป็น อ ข้างหนึ่งเป็น อิ หรือ อุ ก็ดี ข้างหนึ่งเป็น อิ ข้างหนึ่งเป็น อุ หรือ อ ก็ดี ข้างหนึ่งเป็น อ หรือ อิ ก็ดี ไม่ต้องทีฆะก็ได้ เหมือน อุ. ว่า จตูหิ อปาเยหิ เป็น จตูหปาเยหิ เป็นต้น.
         ถ้าสระหน้า เป็น ทีฆะ สระเบื้องปลายเป็นรัสสะ ถ้าลบแล้วต้องทีฆะสระหลัง เหมือน อุ. ว่า สทฺธา อิธ เป็น สทฺธีธ เป็นต้น.
         เมื่อว่าโดยสังเขป -
         ถ้าลบสระสั้นที่มีรูปไม่เสมอกัน ไม่ต้องทีฆะสระสั้นที่ไม่ได้ลบ.
         ถ้าลบสระยาวหรือสระสั้นที่มีรูปเสมอกัน ต้องทีฆะสระสั้นที่ไม่ได้ลบ
         ถ้าสระ ๒ ตัวมีรูปไม่เสมอกัน ลบสระเบื้องปลายบ้างก็ได้ อุ. ว่า จตฺตาโร อิเม ลบสระอิ ที่ศัพท์ อิเม เสีย สนธิกันเป็น จตฺตาโรเม, กินฺนุ   อิมา ลบสระอิ ที่ศัพท์ อิมา เสีย สนธิกันเป็น กินฺนุมา,
         นิคฺคหิตอยู่หน้า ลบสระเบื้องปลายได้บ้าง อุ. ว่า อภินนฺทุ อิติ เป็น อภินนฺทุนฺติ.
            สรุปเป็นกฎเกณฑ์ได้ดังนี้
การลบสระหน้า
         ๑. สระหน้าต้องเป็นรัสสสระ สระหลังต้องเป็นทีฆะ หรือไม่ก็อยู่หน้าพยัญชนะสังโยค เช่น ยสฺส อินฺทฺริยานิ เป็น ยสฺสินทฺริยานิ.
         ๒. ถ้าทั้งสระหน้าและสระหลังเป็นรัสสะทั้งคู่ และมีรูปเดียวกัน คือ เป็น อ อิ อุ เหมือนกัน เมื่อลบสระหน้าไปแล้ว ต้องทีฆะสระหลัง เช่น ตตฺร อยํ  เป็น ตตฺรายํ.
         ๓. ถ้าสระหน้าและสระหลังเป็นรัสสะทั้งคู่ แต่มีรูปต่างกัน เช่น เป็น หน้าเป็น อ หลังเป็น อิ ลบสระหน้าแล้วไม่ต้องทีฆะสระหลัง เช่น จตูหิ อปาเยหิ เป็น จตูหปาเยหิ.
         ๔. ถ้าสระหน้าเป็นทีฆะ สระหลังเป็นรัสสะ ลบสระหน้าแล้วต้องทีฆะสระหลัง
เช่น สทฺธา อิธ เป็น สทฺธีธ.
การลบสระหลัง
         ๑. ถ้าสระ ๒ ตัว มีรูปไม่เสมอกัน ลบสระหลังได้บ้าง เช่น จตฺตาโร อิเม เป็น
จตฺตาโรเม.

         ๒. นิคคหิตอยู่หน้า ลบสระหลังได้ เช่น อภินนฺทุ อิติ เป็น อภินนฺทุนฺติ.

๑๖. สรสนธิ โลปสรสนธิ - ๒) เชื่อมบทโดยลบสระหลัง

๒)  ลบสระหลัง เพราะสระหน้าที่มีรูปต่างกัน เช่น  อ กับ อิ เป็นต้น ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า
         วา  ปโร  อสรูปา  (กัจจ 13 รูป.15)
         สระ อันเป็นเบื้องหลัง จากสระ อันมีรูปต่างกัน ย่อมถึงการลบไปได้บ้าง.
อธิบาย
            สูตรนี้เป็นวิธีลบสระหลัง เพราะมีสระอยู่หน้า
     คำว่า สระอันมีรูปต่างกัน (อสรูปะ) ได้แก่ สระที่ต่างกันโดยฐานและกรณ์.  ในทางไวยากรณ์มีการจัดแบ่งวัณณะ หรือ คู่อักษรใช้แทนเสียง ไว้ดังนี้ อ อา เป็น อวัณณะ, อิ อี เป็น อิวัณณะ, อุ อู เป็น อุวัณณะ.  ดังนั้น อ และอา เป็น สวัณณะกัน คือ มีวัณณะเหมือนกันโดยฐานและกรณ์,  สระนอกนี้ เป็น อสวัณณะกับ อ อา, สำหรับ อิ อี,  อุ อู ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน. ส่วนเอ และ โอ ไม่ได้จัดเป็นวัณณะใดเลย เพราะมีฐานและกรณ์ไม่เหมือนกับสระอื่น. สรุปได้ว่า อ อา อิ อี อุ อู   มีเสียงอื่นซึ่งไม่เหมือนตน เรียกว่า เป็นอสรูปะ เช่น อ มี อิ อี อุ อู เอ โอ . นั่นก็คือ หลังจาก อ หรือ อา ลบ สระ อิ อี อุ อู เอ โอ,  หลังจาก อิ หรือ อี ลบ อ อา อุ อู  เอ โอ ได้ดังนี้เป็นต้น. หลังจาก เอ และ โอ ลบได้ ก็โดยนัยเช่นนี้ คือ หลังจาก อ ลบ อ อา อิ อี อุ อู และโอ. แต่ในสัททนีติ ท่านกล่าวว่า ระหว่าง เอ กับ เอ, โอ กับ โอ ก็เป็นอสรูปะกัน ฉะนั้น หลังจากเอ ก็ลบ เอ, หลัง โอ ก็ลบ โอได้ด้วย.
    คำว่า ได้บ้าง (วา ศัพท์) นี้ เป็นตัวกำหนดให้เห็นว่า การทำสรสนธิด้วยวิธีลบสระหลังนี้ปรากฏใช้ได้บ้างในบางศัพท์ มิใช่ในทุกศัพท์. คือมีข้อยกเว้นบ้างในบางศัพท์ เช่น 
     ปญฺจินฺทฺริยํ มาจาก ปญฺจ + อินฺทฺริยํ ไม่เป็น ปญฺจนฺทฺริยํ ตามสูตรนี้ เพราะในพระไตรปิฎกปรากฏว่ามีแต่รูป ปญฺจินฺทฺริยํ ซึ่งใช้สูตร สรา สเร โลปํ ทำสนธิ.
         


ศัพท์เหล่านี้เป็นโลปสรสนธิ โดยการลบสระหลัง


ยสส + อิทานิ   เป็น  ยสฺสทานิ
สญฺญา + อิติ  เป็น สญฺญาติ
ฉายา + อิว เป็น ฉายาว
กถา + เอว เป็น กถาว
อิติ + อปิ เป็น อิติปิ
อสฺสมณี + อสิ เป็น อสฺสมณีสิ
อกตญฺญู + อสิ เป็น อกตญฺญูสิ
อากาเส + อิว เป็น อากาเสว
เต + อปิ  เป็น เตปิ
วนฺเท + อหํ เป็น วนฺเทหํ
โส + อหํ  โสหํ
จตฺตาโร + อิเม เป็น จตฺตาโรเม
วสโส + อสิ เป็น วสโลสิ
โมคฺคลาโน + อาสิ เป็น โมคฺคลาโนสิ
ปาโต + เอว  เป็น ปาโตว
จกฺขุ + อินฺทฺริยํ เป็น จกฺขุนฺทฺริยํ*

๑๕ สรสนธิ - โลปสรสนธิ ๑) เชื่อมบทโดยลบสระหน้า

วิธีการประกอบสนธิแต่ละประเภท
         ๑.  สรสนธิ
         สรสนธิ คือ การเชื่อมเสียงระหว่างสระท้ายของศัพท์หน้ากับสระต้นของศัพท์หลัง. กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการต่อสระเข้ากับสระ.
         ในแบบเรียนไวยากรณ์ ท่านสรุปว่า ในสรสนธินี้มีวิธีการเข้าสนธิอยู่ ๗ วิธี เว้นสัญโยค อย่างเดียว.
         ในสัททนีติ สรุปว่า บทที่ถูกเชื่อมระหว่างสระกับสระ หรือบทที่ถูกเชื่อมในเพราะสระ ชื่อว่า สรสนธิ. ก็ในคำว่า สรสนธิ นี้ มีคำอธิบายว่า บทที่ถูกเชื่อมอันบัณฑิตให้สำเร็จได้ด้วยอำนาจแห่งวิธีแปลงและลบสระ ชื่อว่า  สรสนธิ. สัทท. แปล 37
            ในคัมภีร์ต่างๆ มิได้จัดระเบียบแห่งสนธิกิริโยปกรณ์ตามนัยที่มีในแบบเรียนฯ เช่น สรสนธิในคัมภีร์ต่างๆ เล็งเอาสระเป็นเหตุให้มีการสนธิ จึงเรียกว่า สรสนธิและท่านก็แสดงไปตามเหตุนั้น เช่น มีสระหน้าหรือหลังเป็นเหตุจึงทำการสนธิด้วยวิธีลบ อาเทศ (แปลง) เป็นต้น ไม่จำกัดแต่เป็นเพียงสระเท่านั้น แม้พยัญชนะก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีสระอยู่หน้าหรือหลัง. แต่ในแบบเรียน ท่านเห็นว่า สรสนธิ เป็นการสนธิกันระหว่างสระและสระเท่านั้น. ถ้ามีพยัญชนะมาร่วมด้วย ท่านจัดไว้ในพยัญชนสนธิ. ดังนั้น จึงเป็นการจัดไว้โดยแนวทางที่แตกต่างกัน. การแสดงสรสนธิและเนื้อหาสาระอื่นในบทความชุดนี้ ผู้เรียบเรียงจะแสดงตามประเภทและลำดับที่จัดไว้ในหนังสือแบบเรียนบาลีไวยากรณ์หลักสูตรเปรียญธรรม โดยอาศัยแนวทางการทำตัวรูปหรือเหตุผลพร้อมทั้งหลักการที่มีอยู่ในคัมภีร์ปทรูปสิทธิ[๑]เป็นหลัก.
         ๑. โลปสรสนธิ การลบ ในคัมภีร์ปทรูปสิทธิแสดงวิธีและสูตรการลบไว้ (แต่ในที่นี้ จะแสดงเฉพาะที่มาในคัมภีร์กัจจายนะและปทรูปสิทธิ ส่วนในสัททนีติและโมคคัลลานะนั้น หากมีประเด็นใด ๆ ที่น่าสนใจ จะนำมาแสดงเพิ่มเติมไว้) ดังนี้ คือ
         ๑) ลบสระหน้า เพราะสระหลัง ด้วยสูตรว่า
         สรา  สเร  โลปํ. (กัจจ 12)
         ในเพราะสระหลัง สระหน้าทั้งหลาย ย่อมถึงการลบไป.
อธิบาย.
         ใน คัมภีร์ปทรูปสิทธิ อธิบายว่า การลบ ได้แก่ การมองไม่เห็น การออกเสียงไม่ได้ ชื่อว่า การลบไป. สูตรนี้ จึงบอกให้ทราบว่า สระหลัง ได้แก่ สระที่ตั้งอยู่ในเบื้องหลัง คือ สระตัวแรกของบทหลัง จะเป็นเหตุให้สระที่ตั้งอยู่หน้า คือ สระเสียงท้ายของบทที่ตั้งอยู่ข้างถูกลบไป.
      อนึ่ง การแยกพยัญชนะออกจากสระนี้ ให้แยกเฉพาะที่อักษรจะเชื่อมต่อกันเท่านั้น และพยัญชนะต้องวางอยู่หน้าสระเสมอ เพราะพยัญชนะทั้ง ๓๒ ตัว เขียนแบบ ปราสยพยัญชนะ (อาศัยสระเสียงหลัง) ยกเว้นนิคคหิตตัวเดียวเท่านั้น ที่เขียนแบบปุพพาสยพยัญชนะ (อาศัยสระเสียงหน้า).  กฏการทำสระสนธิจะอาศัยการลบสระเป็นส่วนมาก ทั้งลบสระหน้าและสระหลัง.  ลบแล้วจึงนำเข้าสนธิหรือให้ทำทีฆะ รัสสะ แปลง เป็นต้นต่อไป.
ตัวอย่างวิธีการสำเร็จรูป.
         ยสฺสินฺทฺริยานิ สำเร็จรูปโดยแยกบทและเชื่อม (สนธิ) เข้ากันดังต่อไปนี้
         ๑. ยสฺสินทฺริยานิ ตัดบทเป็น = ยสฺส  +  อินฺทฺริยานิ 
        ๒. แยกพยัญชนะออกจากสระ = ยสฺสฺ อ + อินฺทฺริยานิ  ด้วยสูตรว่า ปุพฺพมโธ ฅิตมสฺสรํ สเรน วิโยชเย
         ๓. ลบสระหน้าเพราะสระหลัง = ยสฺสฺ + อินฺทฺริยานิ  ด้วยสูตรว่า สรา สเร โลปํ
         ๔. นำพยัญชนะรวมกับสระหลัง = ยสฺสินฺทฺริยานิด้วยสูตรว่า นเย  ปรํ  ยุตฺเต
หมายเหตุ 
         ขั้นตอนที่ ๑ เป็นการแยกตัวให้เห็นสระหน้า (ปุพพะ) และสระหลัง (ประ) ตามนัยของคัมภีร์สัททนีติ.
         ขั้นตอนที่ ๒ ๔  เป็นวิธีการที่ทั่วไปในคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งนักศึกษาต้องกำหนดขั้นตอนที่ ๑, ๒และ ๔  ให้ได้ เพราะเป็นพื้นฐานในการทำสนธิ ดังกล่าวแล้ว .  ส่วนที่ ๓ จัดเป็นข้อที่แตกต่างกันระหว่างการทำสนธิแต่ละอย่าง. ดังนั้น ต่อไปนี้จะแสดงเฉพาะที่เป็นขั้นตอนที่ ๓ เท่านั้น.

ศัพท์เหล่านี้ เป็น โลปสระสนธิ โดยการลบสระหน้า 

โลก + อคฺคปุคฺคโล  = โลกคฺคปุคฺคโล
สตฺต + อุตฺตโม =  สตฺตุตฺตโม
ปญฺญา + อินฺทฺริยํ    ปญฺญินฺทฺริยํ
มาตุ + อุปฏฺฐานํ = มาตุปฏฺฐานํ
สทฺธา + อินฺทฺริยํ   =  สทฺธินฺทฺริยํ
อภิภู + อายตนํ =  อภิภายตนํ
ตีณิ + อิมานิ  = ตีณิมานิ
เม + อตฺถิ  =  มตฺถิ
โน หิ + เอตํ  โน เหตํ
สพฺเพ + เอว = สพฺเพว
ภิกฺขุนี + โอวาโท = ภิกฺขุโนวาโท
ตโย + อสฺสุ = ตยสฺสุ




[๑] คัมภีร์ปทรูปสิทธิ เป็นคัมภีร์ไวยากรณ์ที่อธิบายคัมภีร์กัจจายนไวยากรณ์ โดยนำเสนอสูตรไปตามลำดับบทที่ต้องการ โดยไม่เรียงตามลำดับในคัมภีร์กัจจายนะนั้น ซึ่งสะดวกแก่การกำหนดลำดับและจัดกลุ่มบทเป็นกลุ่มๆ.

๑๔ สนธิกิริโยปกรณ์ วิธีเชื่อมบท


สนธิกิริโยปกรณ์ วิธีเชื่อมบท
         ในคัมภีร์สัททนีติ กล่าวว่า ปุพฺพปราทีนิ สนฺธิกิริโยปกรณํ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือในการประกอบสนธิมี ปุพพะ ประ เป็นต้น ชื่อว่า สนธิกิริโยปกรณ์.
            สนธิกิริโยปกรณ์ ในแบบเรียนฯ แสดงไว้ ๘ อย่าง คือ
         ๑. โลโป  ลบ
         ๒. อาเทโส แปลง
         ๓.  อาคโม  ลงตัวอักษรใหม่
         ๔.  วิกาโร  ทำให้ผิดไปจากของเดิม
         ๕.  ปกติ  ปกติ
         ๖.   ทีโฆ  ทำให้ยาว
         ๗.  รสฺสํ  ทำให้สั้น
         ๘.  สญฺโญโค  ซ้อนตัว
คัมภีร์สัททนีติ แสดงไว้ ๑๐ อย่าง คือ
        ๑.  ปุพฺพ  ได้แก่ พยางค์ที่ออกเสียงก่อนพยางค์อื่น (เสียงหรือพยางค์หน้า)
        ๒.  ปร ได้แก่ พยางค์ที่ออกเสียงภายหลัง (เสียงหรือพยางค์หลัง)
       ๓.  โลปะ การลบได้แก่ ความพินาศแห่งอักษรที่มีอยู่, อีกนัยหนึ่ง ความหมายของถ้อยคำใด ยังคงมีอยู่ แต่รูปไม่มีรูปศัพท์ ก็ชื่อว่า โลปะ
       ๔. อาคม  ลงตัวอักษรใหม่ ได้แก่ การเพิ่มตัวอักษรมาจากส่วนอื่นที่มีอยู่แล้ว
      ๕. สังโยค ซ้อนตัว ได้แก่ การรวมพยัญชนะ ๒, ๓ ตัวที่ไม่มีสระคั่น เข้าด้วยกัน.
      ๖.  วิโยค ได้แก่ การแยกพยัญชนะออกจากสระ
      ๗.  ปรนยนะ  การนำตัวหน้าเข้าหาตัวหลัง
      ๘.  วิปริยยะ  การสลับตำแหน่งของอักษรจากอักษรหน้าเป็นอักษรหลัง.
      ๙.  วิการ  การผันตัวอักษรหนึ่งเป็นอีกตัวอักษรหนึ่ง และการเป็นสังโยคจากอักษรตัวเดียว เช่น อิ อี เป็น เอ, อุ อู เป็น โอ. กฺ เป็น กฺก
     ๑๐. วิปรีตะ การเปลี่ยนพยัญชนะให้เป็นสระหรือพยัญชนะ และการเปลี่ยนสระให้เป็นสระอื่น   เช่น เปลี่ยน เอ กลับเป็น อิ, เปลี่ยน โอ กลับ เป็นอุ.
อีกนัยหนึ่ง โอ อักษรก็เป็นวิปรีตะ เพราะมาจาก อว ศัพท์และอุวัณณะ (อุ อู)   ก็เป็นวิปรีตะ โดยวิปริตมาจาก อว ศัพท์เช่นกัน.
           บรรดาสนธิกิริโยปกรณ์ ๑๐ ที่มาในคัมภีร์สัททนีตินั้น ควรทราบวิธีการพื้นฐานในการเชื่อมบท ดังนี้
      ๑. ผู้ศึกษาควรรู้จักบทที่จะนำเข้าสนธิ ซึ่งประกอบด้วยบทหน้า (ปุพพะ) และ บทหลัง (ประ) ก่อน เพราะเป็นวิธีแรกสุดในการทำสนธิ.
     ๒. ลำดับต่อไปเป็น คือ แยกพยัญชนะออกจากสระ แล้วตั้งไว้เป็นส่วนหน้า หลังจากนั้น (วิโยค) ให้ทำโดยสนธิกิริโยปกรณ์ข้ออื่น มี โลปะ ลบเป็นต้น.
      ๓. ลำดับต่อไปเป็น การนำพยัญชนะหน้าที่ไม่มีสระไปประกอบกับสระตัวหลังอันเป็นวิธีจึงทำวิธีที่ควรจะทำ คือ แยกพยัญชนะออกจากสระเสียก่อน (ปรนยนะ)
       สรุปได้ว่า  วิธีการตั้งชื่อสระให้เป็นบทหน้า (ปุพพะ) เป็นบทหลัง (ประ) เป็นอุปกรณ์อย่างแรก.  ส่วน การแยกพยัญชนะออกจากตัวหลัง (วิโยคะ) และ การนำตัวหน้าเข้าหาตัวหลัง (ปรนยนะ) เป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานที่ต้องทำในสนธิทั้งปวง.
         เกี่ยวกับวิธีการเช่นนี้ ในสัททนีติท่านแสดงไว้เป็นขั้นตอนการทำสนธิว่า
     “ลำดับแรก บัณฑิต พึงตั้งบทหน้าและบทหลังที่จะทำสนธิไว้ก่อน. ลำดับนั้น พึงทำวิธีที่ควรกระทำ (มีการแยกพยัญชนะออกจากสระเป็นต้น) ในกรณีที่มีสระอยู่หลัง, ต่อจากนั้น พึงนำไปประกอบเข้าหากัน.
         ๒๘. สรา วิโยชเย พฺยญชนํ, ตญฺจสฺส ปุพฺเพ ฅเปยฺย
         กุลบุตรผู้ใคร่เพื่อจะทำการสนธิ, ยังพยัญชนะพึงให้แยกออกจากสระและพึงตั้งไว้ซึ่งพยัญชนะนั้น ในเบื้องหน้าด้วย.
         ในการตั้งบทหน้าและบทหลังนั้น เมื่อสระถูกปกปิดด้วยพยัญชนะ กิจที่ควรทำด้วยวิธีของสนธิ ย่อมไม่สำเร็จเหมือนดาบที่ถูกหุ้มไว้ด้วยฝัก ย่อมไม่สามารถสำเร็จการฟันได้ ฉะนั้น, ดังนั้น ผู้ประสงค์จะทำสนธิ พึงทำการตัดบทในที่แห่งปทสนธิ มี ตตฺรายํ เป็นต้น ด้วยนัยเป็นต้นว่า ตตฺร + อยํ, ส่วนในที่แห่งวัณณสนธิ มีสาหุ, เอกสตํ, ขตฺยา เป็นต้น พึงตั้งรูปเดิมของบทมี สาธุ เอกสตํ ขตฺติยา แล้วพึงแยกพยัญชนะออกจากสระและวางพยัญชนะนั้นไว้ก่อนสระนั้น.
         ๒๙ เนตพฺพมสฺสรํ ปรกฺขรํ นเย 
         พึงนำไปซึ่งพยัญชนะที่ไม่มีสระ ที่สมควรจะนำไปสู่อักษรตัวหลัง. เช่น สหุปฺปตฺติ การเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นต้น(สัทท. แปล หน้า ๓๔)
         นอกจากนี้ ในคัมภีร์กัจจายนะ ก็ยังแสดงสูตรไว้ว่า
         ๑๐.  ปุพฺพมโธฐิตมสฺสรํ สเรน วิโยชเย
         พึงแยกพยัญชนะจากสระ ทำให้ไม่มีสระและตั้งไว้ส่วนหน้า.[๑] เช่น โก แยก กฺ ออกจาก โอ, เอตํ แยก ตฺ ออกจาก อํ.
         ๑๑. นเย  ปรํ  ยุตฺเต
         นำพยัญชนะหน้าที่ไม่มีสระเข้าหาตัวหลังตามที่เข้ากันได้. เช่น เอตํ + อโวจ = เอตทฺ + อโวจ = เอตทโวจ
         แต่ในแบบเรียนไวยากรณ์ไม่ได้แสดงไว้แบบนี้  อาจเป็นเพราะท่านตัดวิธีการเหล่านี้ซึ่งเป็นวิธีการพื้นฐานที่นักศึกษาจะต้องรู้กันอยู่แล้วก็ได้.  อย่างไรก็ตาม ในการทำสนธิทุกประเภทต้องมีวิธีการเช่นนี้เสมอ.


[๑] คำว่า อโธฐิตํ ที่แปลตรงตัวว่า ให้ตั้งไว้ข้างล่าง กล่าวคือ ส่วนหน้านี้ เป็นรุกฺขารุฬฺหนย (นัยดุจการขึ้นต้นไม้) เวลาที่เราขึ้นต้นไม้ ส่วนที่เราผ่านมาแล้วเป็นข้างล่าง ส่วนที่ยังเหลืออยู่เป็นข้างบน ฉันใด, เวลาที่เราอ่านหนังสือ ส่วนที่อ่านผ่านมาแล้ว ก็เรียกว่า ข้างล่าง ส่วนที่ยังไม่ถึง เรียกว่า ข้างบน ก็ฉันนั้น. คำว่า ข้างล่างในที่นี้ ก็คือข้างหน้า หรือทางด้านซ้ายมือนั่นเอง ฉะนั้น เวลาแยกพยัญชนะออกจากสระ ให้ตั้งพยัญชนะไว้ข้างหน้าสระอย่างนี้คือ โลกฺ  อ  อคฺคปุคฺคโล