29/3/57

๒๓. สรสนธิ : อาเทส : อาเทสสระหน้า : อุ โอ เป็น ว

แปลง โอ และ อุ ที่สุดแห่งศัพท์เป็น ว
            กัจจ. 18 รูป. 20  วโมทุทนฺตานํ
                 ในเพราะสระหลัง มีการอาเทศเป็น ว แห่ง โอและอุอักษร
            อันเป็นที่สุดของบทได้บ้าง.
         สัทท. 44 ก ข ต ถ ท น ย ส หานํ โวทุทนฺตานํ
                 ในเพราะสระเบื้องหลัง ย่อมมีการแปลงเป็น ว แห่ง โอและอุ
            ของ ก ข ต ถ ท น ย ส และห อันเป็นพยางค์สุดท้าย ของบท ได้บ้างในบางที่.
            โมค. แสดงรวมไว้ในสูตรว่า เอโอนํ  และว่า ยวา สเร (ในเพราะสระเบื้องหลัง แปลงอิ เป็น ย, อุ เป็น โอ ได้บ้าง).
อธิบาย การแปลง โอ และ อุ เป็น ว ได้นั้น มีกฏเกณฑ์ดังนี้
         - ต้องเป็น โอ และ อุ ที่สุดของบทเท่านั้น
         - ต้องเป็น โอ และ อุ ของศัพท์ที่ประกอบด้วย ก ข ย ส ต พยัญชนะ เป็นต้นเท่านั้น และสัททนีติ เพิ่ม ท ถ น ห เข้ามา รวมเป็น ก ข ต ถ ท น ย ส และห รวม ๙ ตัว.
อุทาหรณ์
ยาวตกฺวสฺส กาโย
ยาวตโก + อสฺส
กายมหาบุรุษนั้น มีขนาดเท่าใด
อคมา นุ ขฺวิธ
โข + อิธ
ได้ไปในที่นี้หรือหนอ
จกฺขวฺวาปาถมาคจฺฉติ
จกฺขุ + อาปาถํ
รูปารมณ์มาสู่คลองจักษุ
สิตํ ปาตฺวากาสิ
ปาตุ + อกาสิ
ทรงแย้มยิ้มให้ปรากฏ
ยตฺวาธิกรณํ
ยโต + อธิกรณํ
มีสิ่งใดเป็นเหตุ
วตฺเถฺวตฺถ วิหิตํ นิจฺจํ
วตฺถุ+ เอตฺถ
วัตถุถูกฝังไว้ในที่นี้แน่นอน
ทฺวากาเร
ทุ + อากาเร
ผู้มีกิริยาอาการไม่งาม
ยฺวายํ
โย + อยํ
บุคคลนี้ใด
อนฺวาคนฺตฺวาน ทูเสยฺย
อนุ + อาคนฺตฺวาน
มาแล้ว พึงทำลาย
สฺวาสฺส โหติ
โส + อสฺส
ความบากบั่นนั้นมีแก่เขา
สฺวาคตํ เต
สุ + อาคตํ
ยินดีต้อนรับท่าน
พวฺหาพาโธ
พหุ + อาพาโธ
อาพาธมาก, ป่วยมาก
ลวฺหฺขรํ*
ลหุ + อกฺขรํ
อักษรเสียงเบา

         *สลับอักษรหน้ากับอักษรหลัง (หฺ กับ วฺ) ด้วยสูตรว่า ปริยาทีนํ รยาทิวณฺณสฺส ยราทีหิ วิปริยาโย. (พยัญชนะ ร ย เป็นต้น ของปริยศัพท์เป็นต้น สลับตำแหน่งเป็น ย ร เป็นต้นได้) (สัทท.แปลสูตรที่ 154 หน้า 132)

ข้อยกเว้น สูตรนี้มีข้อยกเว้น คือ
            ๑) ห้ามแปลง อุ อักษร และ โอ อักษร เป็น ว ได้บ้างในอุทาหรณ์เหล่านี้ คือ
            โก อตฺโถ ประโยชน์อะไร (ไม่เป็น กฺวตฺโถ เป็น โก อตฺโถ)
         อถ โข เอส ครั้งนั้นแล เขา (ไม่เป็น อถขฺเวส เป็น อถ โข เอส)
         โย อหํ ข้าพเจ้าผู้ใด (ไม่เป็น ยฺวาหํ เป็น โยหํ)
         โส อหํ ข้าพเจ้า ผู้นั้น (ไม่เป็น สฺวาหํ เป็น โสหํ)
         จตฺตาโร อิเม ธรรม ๔ ประการนี้ (ไม่เป็น จตฺตารฺวิเม เป็น จตฺตาโรเม)
         ๒) ห้ามแปลง อุ อักษร เป็น ว ในที่ที่ไม่ใช่ อุ อักษรอันเป็นที่สุดของบท เช่น
         สวนียํ คำพูดอันบุคคลพึงฟัง มาจาก สุ + อนีย .  คำว่า สุ ในที่นี้ ไม่ใช่ที่สุดของบท จึงไม่สามารถแปลง อุ เป็น ว ด้วยสูตรนี้ได้ แต่เป็นการพฤทธิ์ (เป็นการเพิ่มเสียงขึ้นมา บางทีเรียกว่า วุทธิ)  อุ เป็น โอ ด้วยสูตรว่า อญฺเญสุ จ แล้วแปลงโอ เป็น อวด้วยสูตรว่า โอ อว สเร.
         วิรวนฺติ ย่อมร้อง มาจาก  วิ + รุ ธาตุ  + อนฺติ วิภัตติอาขยาต ก็โดยนัยเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว.
         ๓) โอ และ อุ อักษร ที่อยู่นอกจากพยัญชนะเหล่านี้ คือ  ก ข ต ถ ท น ย ส และห  นี้แล้ว ไม่สามารถแปลง เป็น ว ได้ เลย ในคำเป็นต้นว่า
         มหายาโค อาสิ การบูชาใหญ่ ได้มีแล้ว.
         ยาคุ อตฺถิ ข้าวยาคู มีอยู่

ในสัททนีติ สูตรที่ ๔๕ ท่านกล่าวถึงข้อยกเว้นการอาเทศเป็น ว แห่ง โอ อักษรไว้ว่า
          น ปเรปิ สเร เหตุธาตาทีนมุสฺส ปาวจเน จ
         ในพระบาลีและในอรรถกถาดั้งเดิม แม้จะมีสระอยู่หลัง ก็ไม่มีการแปลง อุ อักษรของเหตุศัพท์และ ธาตุศัพท์เป็นต้น เป็น ว. เช่น
เหตุตฺโถ
เหตุ + อตฺโถ
อรรถเหตุ
ธาตุตฺโถ
ธาตุ + อตฺโถ
อรรถธาตุ
เหตินฺทฺริยานิ
เหตุ + อินฺทฺริยานิ
อินทรีย์เป็นเหตุ
ขนฺธธาตายนตนานิ
ขนฺธธาตุ + อายตนานิ
ขันธ์ ธาตุ อายตนะ
กตฺตุอตฺโถ
กตฺตุ + อตฺโถ
อรรถกัตตา
        
แต่อย่างไรก็ตาม ตามมติของอาจารย์บางท่านให้แปลงเป็น ว ได้ ก็มี เช่น

เหตฺวตฺโถ
เหตุ + อตฺโถ
อรรถเหตุ
ธาตฺวตฺโถ
ธาตุ + อตฺโถ
อรรถธาตุ
ปญฺจธาตฺวาทินิยมา
ปญฺจธาตุ + อาทินิยมา
กำหนดธาตุ ๕ เป็นต้น
กตฺวตฺโถ
กตฺตุ + อตโถ
อรรถกัตตา
อปิสุ ขลฺวหาเสสึ
ขลุ + อหํ + อาเสสึ
เราได้อยู่ แน่แท้
อสฺโส ขลฺวาภิธาวติ
ขลุ + อภิ + ธาวติ
ม้าวิ่งไปเร็วยิ่ง
จิตฺรคฺวาทโย
จิตฺรโค + อาทโย
วัวด่างเป็นต้น
ภฺวาปานลานิลํ
ภู + อาป + อนล + อินล
ปฐวี อาโป เตโช วาโย
มธฺวาสโว*
มธุ + อาสโว
ยาดองน้ำผึ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น