29/3/57

๒๒. สรสนธิ : อาเทส : อาเทสสระหน้า : เอ เป็น ย

๕. อาเทสสรสนธิ ได้แก่ การเข้าสนธิโดยการแปลงสระเป็นพยัญชนะ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการลบสระหลังแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ให้นักศึกษาสังเกตด้วยว่า การเกิดการแปลงหรืออาเทสได้นั้น จะต้องมีการลบสระหลังเท่านั้น.   
         ในแบบเรียนไวยากรณ์ ฯ ท่านกล่าวว่า
         ๒๐. อาเทโส มี ๒ แปลงสระเบื้องหน้า๑ แปลงสระเบื้องหลัง ๑
         แปลงสระเบื้องหน้าดังนี้
         ถ้า อิ เอ หรือ โอ อยู่ข้างหน้า มีสระอยู่เบื้องหลัง ให้
         - แปลง อิ ตัวหน้า เป็น ย   ถ้ามีพยัญชนะซ้อนกัน ๓ ตัว ลบพยัญชนะที่มีรูปเสมอกันเสียตัวหนึ่ง อุ. ปฏิสณฺฐารวุตฺติ อสฺส เป็น ปฏิสณฺฐารวุตฺยสฺส, อคฺคิ อาคารํ เป็น
อคฺยาคารํ,
         - เอา เอ เป็น ย เช่นอุ. ว่า เต อสฺส เป็น ตฺยสฺส ได้ในคำว่า ตฺยสฺส ปหีนา โหนฺติ. เม อยํ เป็น มฺยายํ ได้ในคำว่า อธิคโต โข มฺยายํ ธมฺโม, เต อหํ เป็น ตฺยาหํ ได้ในคำว่า ตฺยาหํ เอวํ วเทยฺยํ,
         - เอาโอ เป็น ว อุ.ว่า อถโข อสฺส เป็น อถขฺวสฺส
         - เอา อุ เป็น ว  อุ. ว่า พหุ อาพาโธ เป็น พหฺวาพาโธ, จกฺขุ อาปาถํ เป็น จกฺขฺวาปาถํ.
         วิธีการเช่นนี้ พ้องด้วยมติในคัมภีร์กัจจายนะ สัททนีติ และโมคคัลลานไวยากรณ์ดังนี้ คือ
 - แปลง อิ เป็น ย ในกัจจายนะและปทรูปสิทธิ แสดงไว้ว่า
         กัจจ. 21 รูป. 21 อิวณฺโณ ยํ นวา
                 ในเพราะสระ อันเป็น อสรูปะ อันเป็นเบื้องหลัง อิวัณณะ อันอยู่ข้างหน้า
            ย่อมถึงความเป็น ย อักษร (นวา) ได้บ้าง.
         สัทท. 51 ยมิวณฺโณ นวา
                 ในเพราะสระอันเป็นเบื้องหลัง, อิวัณณะ อันเป็นเบื้องหน้า ย่อมถึงความ            เป็น ย อักษร ในบางที่
อธิบาย. ในปทรูปสิทธิ แสดงว่า เพราะมีสระอันเป็นสรูปะ (มีรูปไม่เหมือนกัน คือ อ อา อุ อู เอ โอที่ไม่เหมือนกับ อิวัณณะ คือ อิ อี) เป็นอักษรต้นบทหลัง จึงสามารถอาเทศ อิ อี ที่เป็นอักษรท้ายของบทข้างหน้าเป็น ย ได้.  สระ อิ นั่นเอง เป็น อิวัณณะ. เมื่อกล่าวเช่นนี้ ฟังดูคล้ายกับว่า ท่านระบุเอา สระ อิ เท่านั้นว่าเป็น อิ วัณณะ แต่ความเป็นจริงแล้ว ต้องเอาสระ อี ซึ่งมีฐานเหมือนกันด้วย ฉะนั้น ในสูตรนี้ จึงถือเอาได้ว่า สามารถอาเทศ อิ และ อี ที่เป็นอักษรท้ายของบทข้างหน้าเป็น ย ได้.
         ส่วนคำว่า นวา ก็มีความหมายเดียวกันกับ กฺวจิ หรือ วา ศัพท์นั่นเอง (แปลว่า ได้บ้าง, ในพระบาลีบางที่ .  ซึ่งเรียกว่า เป็นไวพจน์กัน หรือใช้แทนกันได้นั่นเอง)
อุทาหรณ์
พฺยากาสิ*
วิ + อา + อกาสิ
พยากรณ์แล้ว
พฺยากโต
วิ + อา + กโต
พยากรณ์แล้ว
พฺยญฺชนํ
วิ + อญฺชนํ
แกง, กับข้าว
พฺยากรณํ
วิ + อา + กรณํ
ไวยากรณ์
ปฏิสนฺถารวุตฺยสฺส**
ปฏิสนฺถารวุตฺติ + อสฺส
ข้อปฏิบัติปฏิสันถารของเธอ
ทาสฺยาหํ ปรเปสิกา อหุ
ทาสี + อหํ
ฉันเป็นนางทาสรับใช้ผู้อื่น
สพฺพา วิตฺยานุภุยฺยเต
วิตฺติ + อนุภุยฺยเต
ชนทั้งปวงถูกความเพลิดเพลิน ครอบงำ.
นทฺยาสนฺโน
นที + อาสนฺโน
ใกล้แม่น้ำ (ริมน้ำ)
         * คำว่า พฺยากาสิ ในสัททนีติ แสดงว่า ตัดบทเป็น วิ + อา + อกาสิ. คำว่า วิ และคำว่า อา เป็นอุปสรรคบท. คำว่า อกาสิ เป็นกิริยาอาขยาตบท. คำว่า พยากาสิ นี้ มีความหมายว่า กเถสิ ด้วยอำนาจของวิ และ อา อุปสรรค เหมือนบทว่า กโต ในคำว่า พฺยากโต นี้ มีความหมายว่า กถิโต ด้วยอำนาจของ วิ และ อา อุปสรรค ฉะนั้น.
         อนึ่ง ในคำว่า พฺยากาสิ นี้ ในบรรดาสระ ๓ ตัวที่อยู่ตามลำดับ คือ อิ + อา + อ พึงทราบว่า มีการลบ อา อักษร หลังจาก อิ อักษร ที่เป็น อสรูปวัณณะ. (คือ ลบ อา ที่อยู่หลังจาก อิ ที่ วิ ออกไปก่อน. เมื่อ อิ ที่ วิ เป็น ย จึงทำทีฆะ อ ที่ อกาสิ เป็น อา โดยอาศัยสูตรที่ ๖๔ ว่า สรา พฺยญฺชเน ทีฆํ ทีฆะสระหน้า เพราะพยัญชนะเบื้องหลังบ้าง).
         ** คำว่า ปฏิสนฺถารวุตฺยสฺส มีการสำเร็จรูปพิเศษดังนี้
         ๑) แยกพยัญชนะออกจากสระ  (วุตฺตฺ อิ อสฺส)  ด้วยสูตรว่า ปุพฺพมโธ ฯ
         ๒) เพราะสระหลังเป็น อสรูปะ แปลง อิ เป็น ย (วุตฺตฺ ยฺ อสฺส)  ด้วยสูตรว่า อิวณฺโณ ฯ
         ๓) พยัญชนะซ้อนกัน ๓ ตัว ลบตัวที่เหมือนกันออก ๑ ตัว (วุ  ตฺ ยฺ อสฺส)  ด้วย ศัพท์ในสูตรว่า พฺยญฺชโน จ วิสญฺโญโค[1]
         ๔) นำพยัญชนะประกอบสระหลัง (วุตฺยสฺส)  ด้วยสูตรว่า นเย ปรํ ยุตฺเต.
             สำเร็จรูปเป็น ปฏิสนฺถารวุตฺยสฺส


ข้อยกเว้น
            ด้วยคำว่า นวา ที่แปลว่า ได้บ้าง แสดงถึงข้อยกเว้นว่า ในอุทาหรณ์เหล่านี้ ไม่ต้องทำตามสูตรนี้ ก็ได้ เช่น
ปญฺจหงฺเคหิ
ปญฺจหิ + องฺเคหิ
ด้วยองค์ ๕
ตานิ อตฺตนิ
ตานิ + อตฺตนิ
ทุกข์เหล่านั้น ย่อมมีในตน
คจฺฉามหํ
คจฺฉามิ + อหํ
ข้าพเจ้าไป
ตสฺส ปุฏฺโฐ วิยากาสิ
วิ + อา + อกาสิ
ถูกถามแล้วจึงให้คำตอบ
มุตฺตจาคี อนุทฺธโต
มุตฺตจาคี อนุทฺธโต
ผู้สละไม่มีเยื่อใย, ไม่ฟุ้งซ่าน
อกฺขรานํ วิยญฺชนํ
วิ + อญฺชนํ
อักษร เป็นเครื่องแสดง

 - แปลง เอ ที่สุดศัพท์ เป็น ย
         กัจจ. 17 รูป. 19  ยเมทนฺตสฺสาเทโส
         ในเพราะสระหลัง อาเทศ เอ อันเป็นที่สุดของบท เป็น ย ได้บ้าง
อธิบาย. ในปทรูปสิทธิ ได้ให้คำอธิบายว่า ในฐานะอันสมควร ในเพราะสระเบื้องหลัง มีการอาเทศเป็น ย อักษร แห่ง เอ อักษร อันเป็นที่สุดแห่งบท ได้บ้าง.  วิธีนี้ สำหรับ เอ ของศัพท์ มี เม เต เย เป็นต้นเท่านั้น ในเพราะ อ อักษร.. หมายความว่า ข้อกำหนดหรือฐานะอันสมควรของการอาเทศ เอ เป็น ย นั้น มีดังนี้คือ 
         - ต้องมีสระ อ เป็นนิมิต (เป็นเหตุให้กำหนด) อยู่ข้างหลัง.
         - เอ ต้องเป็น เอ ในคำว่า  เม เต เย เท่านั้น (แต่ในสัททนีติเพิ่มคำว่า เก และได้คัดค้านการเป็นเอ ที่ เยไว้ด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไป) .
         - ให้ทีฆะสระต้นของบทหลังด้วยสูตรว่า ทีฆํ ในพยัญชนสนธิ เพราะต้องอาศัย
พยัญชนะเบื้องหลังเป็นเหตุ.(รายละเอียดจะกล่าวในพยัญชนสนธิอีกครั้ง).
         สัททนีติ ก็ได้เสนอสูตรขยายความของกัจจายนะให้ชัดเจนอีกว่า
         43. เตเมปพฺพตฺยาทีนเมสฺส โย วินา เยกาเรน
                  เอาสระเอ  ที่สุดของศัพท์ เต เม ปพฺพเต เป็นต้น แต่เว้น เอ
            ของ เยอักษร ได้บ้างในบางอุทาหรณ์.
ความหมายของสูตรในสัททนีตินี้ ก็เหมือนกับในกัจจายนะ.
อุทาหรณ์ ในสัททนีติและปทรูปสิทธิเสนออุทาหรณ์ว่า
เต อหํ เป็น ตฺยาหํ
เม อยํ เป็น มฺยายํ
เต อสฺส เป็น ตฺยาสฺส
ปพฺพเต อหํ เป็น ปพฺพตฺยาหํ
เย อสฺส เป็น ยฺยาสฺส *สัทท. เป็น ยสฺส
เก อหํ เป็น กฺยาหํ
ข้อยกเว้น ในปทรูปสิทธิแสดงข้อยกเว้นไว้ดังนี้
            - เอ ที่ไม่ใช่ที่สุดของบทห้ามอาเทศ เป็น ย นั่นก็คือ เอ ที่อยู่กลางบทไม่เข้าเกณฑ์ของสูตรนี้ เช่น ธมฺมจกฺกํ ปวตฺเตนฺโต, ทเมนฺโต จิตฺตํ.
*ส่วนในสัททนีติ แสดงข้อยกเว้น เพิ่มขึ้นอีกว่า
         - ในบางอุทาหรณ์ ก็ไม่ได้เป็น ย ก็มี เช่น เต อนาคตา เป็น เตนาคตา, เม อตฺถิ เป็น มตฺถิ.
         - เอ ที่ เย ห้ามอาเทศเป็น ย โดยท่านพระอัคควังสะ (ผู้รจนาคัมภีร์สัททนีติ) ได้พรรณนาเหตุผลไว้ว่า
         ถาม ในเรื่องการแปลง เอ เป็น ย อักษรนี้ มีคำท้วงว่า คำว่า วินา เยกาเรน เว้นเย อักษร มีประโยชน์อะไร? ฐานะที่ควรเว้นมีมากมิใช่หรือ (ทำไม่จึงต้องจำกัดเฉพาะ เย อักษร เท่านั้น)
            ตอบ ใช่ แต่คำว่า วินา เยกาเรน ข้าพเจ้าแสดงไว้ เพื่อห้ามมติของครูผู้มีความประสงค์จะแปลง เอ อันเป็นส่วนหนึ่งของ เย เป็น ย เช่นตัวอย่างว่า ยฺยสฺส.*
            ด้วยบทว่า ยฺยสฺส ที่มีการซ้อน ยฺ อักษร ๒ ตัง ไม่มีใช้ในพระบาลี, อรรถกถา จะมีก็แต่บทว่า ยสฺส ซึ่งไม่มีการซ้อน ย อักษร ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ยฺย อักษร ที่กล้ำกันอยู่ ๒ ตัวนั้น มีการออกเสียงไม่ต่างกัน เหมือนกับคำว่า ยฺย อักษร ในคำว่า อุยฺยาน ฉันนั้น  (คำว่า ออกเสียงไม่ต่างกัน หมายความว่า ในที่มี ยฺย อักษรควบกล้ำกันอยู่ เช่น ในคำว่า อุยฺยาน ยฺย ไม่สามารถออกเสียงควบกล้ำได้ แต่จะออกเสียงเพียงเสียงเดียว คือ ซึ่งแตกต่างจากอักษรควบกล้ำอื่น ๆ เช่น ทฺย ที่สามารถออกเสียงควบกล้ำได้ ด้วยเหตุนี้ ในกรณีของ ยฺยสฺส จึงไม่ควรมีการควบกล้ำกันอยู่)
         ข้อนี้มีพระบาลีในอังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต เป็นหลักฐานดังนี้ว่า
                        โส ปาปธมฺโม ทุมฺเมโธ ชานํ ทุกฺกฏมตฺตโน
            ทลิทฺโท อิณมาทาย                 ภุญฺชมาโน วิหญฺญติ.
            ตโต อนุวิจรนฺติ นํ                    สงฺกปฺปมานสา ทุกขา                        
            คาเม วา ยทิ วารญฺเญ          ยสฺส วิปฺปฏิสารชาติ
                        บุคคลผู้มีปัญญาทราม ผู้ทำบาปนั้น รู้อยู่ซึ่งกรรมชั่วของตน ย่อม            เดือดร้อนเหมือนคนยากไร้ กู้หนี้มาใช้สอย ย่อมเดือดร้อน,
            เพราะฉะนั้น ทุกข์เหล่าใดเกิดขึ้น แก่บุคคลนั้นเพราะความเดือดร้อนใจ,
            ทุกข์เหล่านั้น ย่อมติดตามบุคคลนั้นไปในบ้าน หรือในป่า.
            ในคาถานี้ ปรากฏเพียงบทว่า ยสฺส ที่ไม่มีพยัญชนะสังโยคเท่านั้น. แม้ในอรรถกถาท่านก็กล่าวว่า
            ยสฺส วิปฺปฏิสารชาติ เย อสฺส วิปฺปฏิสารโต ชาตา.
            ข้อความว่า ยสส วิปฺปฏิสารชา มีความหมายว่า เย อสฺส วิปฺปฏิสารโต ชาตา ทุกข์เหล่าใด เกิดแก่บุคคลนั้น เพราะความเดือดร้อนใจ.
            จะเห็นได้ว่า ในบทตั้งของอรรถกถานี้ ก็ปรากฏเฉพาะขทที่ไม่มีพยัญชนะสังโยคว่า ยสฺส. นอกจากนั้น ในข้อความพระบาลีที่จะแสดงต่อไปนี้ ก็ปรากฏเฉพาะบทที่ไม่มีพยัญชนะสังโยค เช่นกัน ตัวอย่างเช่น
            ยสฺส เต โหนฺติ อนตฺถกามา บุคคลเหล่าใดไม่หวังประโยชน์ ต่อบุคคลนั้น
            ยสฺสุ มญฺญามิ สมเณ ย่อมสำคัญบุคคลเหล่าใดว่า เป็นสมณะแน่แท้.
            อญฺญํ อิโต ยาภิวทนฺติ ธมฺมํ เดียรถีย์เหล่าใดประกาศทิฏฐิอื่นจากคำสอนนี้
            บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺสุ ตัดบทเป็น เย อสฺสุ. บทว่า ยาภิวทนฺติ ตัดเป็น เย อภิวทนิติ. ข้าพเจ้าได้กล่าวคำว่า วินา เยกาเรน ดังนี้ ด้วยจุดประสงค์ก็เพื่อแสดงความพิเศษนี้ ด้วยประการฉะนี้
         สรุปความได้ว่า ท่านคัดค้านการเป็น ย ของ เอ ที่ เย ศัพท์ในรูปว่า ยฺยสฺส ของคัมภีร์ปทรูปสิทธิว่า ไม่มีที่ใช้ในพระไตรปิฏกและอรรถกถา.  แต่ ในปทรูปสิทธิ ได้อ้างอิงที่มาในพระไตรปิฎกเช่นกันว่า ยฺยสฺส อยู่ในพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬา ฯ บาลี (ซึ่งปริวรรตมาจากฉบับ ฉัฏฐสังคายนา พม่า) เล่มที่ 12 หน้า 232 บรรทัดที่ 22 (องฺ ติก. ทุติยปณฺณาสก. สมณวคฺค. ปํสุธากสุตฺต).  แต่ในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ หน้า 307 สูตรดังกล่าว (ฉบับมหามกุฏ บาลี.) มีรูปว่า ยสฺส ซึ่งในที่นั้นได้อ้างถึงฉบับพม่าว่าเป็น ยฺยสฺส.
         เมื่อเป็นเช่นนี้ ปรากฏว่า มีที่ใช้ในพระบาลีทั้งสองมติ เราเป็นนักศึกษาจึงควรจะยอมรับทั้งสองฝ่าย โดยขอให้ยึดว่าเป็นแนวทางที่เป็นได้ทั้งคู่.
         แม้ในโมคคัลลานะไวยากรณ์ ท่านก็แสดงสูตรการอาเทศ เอ เป็น ย ด้วย โดยรวมไปถึงการอาเทศ โอ เป็น ว ด้วย ดังสูตรว่า
         โมค. 1.31  เอ  โอนํ
                 ในเพราะสระหน้า แปลง เอ เป็น ย และ โอ เป็น ว ได้บ้าง
มีอุทาหรณ์เดียวกันกับในสัททนีติและกัจจายนะ.




[1] ในสูตรนั้น ท่านบอกว่า เมื่อลบสระหลังจากนิคคหิตแล้ว พยัญชนะสังโยค จะเป็นพยัญชนะปราศจากสังโยค ด้วย.  ก็ด้วยการตัดแบ่งสูตรนี้ อาศัยคำว่า ด้วย (จ ศัพท์) นี้แหละ อาจารย์พุทธัปปิยะ ผู้แต่งคัมภีร์ปทรูปสิทธิ ท่านบอกว่า ถ้ามีพยัญชนะสังโยค ซ้อนกัน ๓ ตัว พยัญชนสังโยคที่มีรูปเหมือนกัน ต้องทำให้เป็นพยัญชนะที่ไม่มีสังโยค นั่นก็คือ ให้ลบออกไปเสีย ๑ ตัว. ดังนั้น ในอุทาหรณ์นี้ เมื่อผ่านขั้นตอนที่อาเทศเป็น ย แล้ว จะปรากฏพยัญชนสังโยคอยู่ถึง ๓ ตัว คือ ตฺ ตฺ ยฺ จึงต้องลบ ตฺ ออกเสียง ๑ ตัว ได้รูปเป็น วุตฺ ยฺ อสฺส เมื่อรวมพยัญชนะกันแล้ว จึงสำเร็จรูปดังกล่าวได้.  ในอุทาหรณ์ว่า อคฺยาคารํ เป็นต้น ก็มีนัยเช่นนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น