อชฺชตคฺเค เริ่มแต่วันนี้
เคยสงสัยเรื่องการสำเร็จรูปนี้อยู่ ครั้นได้ลงมือเรียบเรียงบทความบาฬีไวยากรณ์ ตามแนวทางโมคคัลลานะ จากคัมภีร์นิรุตติทีปนี จึงได้พบแนวทาง ให้ค้นคว้าต่อ เห็นว่า ถ้าจะปล่อยให้ผ่านไป คงจะหายไปกับความทรงจำเป็นแน่แท้..
คัมภีร์นิรุตติทีปนี ท่านแสดงศัพท์นี้ไว้ในภายใต้หัวข้อเรื่อง การลง ต อาคม. แต่วิธีการของท่านดูเหมือนจะต่างจากคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา ที่เป็นที่มาของศัพท์นี้ ข้าพเจ้า จึงได้หยิบที่มาของศัพท์นี้ที่ว่าต่างกัน แล้วนำมาคุยสนทนาท่านผู้อ่าน ได้ดังนี้
------
การลงพยัญชนะอาคม เป็นวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ในการเชื่อมบทเข้าหากัน ความเห็นเรื่องอักษรที่เพิ่มเข้ามาอาจมีแตกต่างกัน กล่าวคือ บางแห่งมองว่าเป็นอักษรอาคม บางแห่งมองว่าเป็นการอาเทศ แต่บางแห่งกลับมองว่าเป็นปัจจัย
ควรทราบหลักการใช้คำศัพท์อยู่ ๒ ประการ คือ
๑. หลักการในคัมภีร์ไวยากรณ์
๒. หลักการใช้ในพระบาฬีและอรรถกถาฎีกา
คัมภีร์ไวยากรณ์บาฬี จัดเป็นคัมภีร์ที่แสดงหลักการใช้ภาษาที่ถือเป็นมาตรฐานและมีความสอดคล้องกับการใช้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพระพุทธวจนะที่มาในพระบาฬีอยู่แล้วให้ได้ความหมายที่ถูกต้องของพระพุทธวจนะนั้น หรือเป็นการใช้ภาษาโดยการพูดหรือเขียนขึ้นใหม่อีก. แต่หลักไวยากรณ์บาฬีถือว่าเป็นไปโดยส่วนมาก เพราะไวยากรณ์บาฬีนั้นยึดหลักภาษาสันสกฤตเป็นกฏเกณฑ์เบื้องต้นในการกำหนดหลักการ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอนุโลมให้สอดคล้องกับตัวอย่างการใช้จริงในพระบาฬี. หลักไวยากรณ์จึงถือเป็นเกณฑ์พื้นฐานที่สำคัญอย่างแรก ในการพิจารณาหาเกณฑ์การใช้คำศัพท์ในพระบาฬีนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้ภาษาในการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาค ได้ปรับปรุงให้เหมาะสมแก่ผู้ฟังในวาระและสถานที่ต่างๆ ในพระบาฬีจึงมีคำศัพท์ที่นอกกฏเกณฑ์จากหลักไวยากรณ์เดิม ดังนั้น คัมภีร์ไวยากรณ์ จะต้องมีเงื่อนใขในการใช้ศัพท์ในหลักการ (สูตร) นั้นๆ ว่า กฏข้อนี้มีใช้ในบางแห่งเท่านั้น บ้าง ยกเว้นศัพท์ที่มาในพระบาฬีเหล่านี้ บ้าง อาจใช้ได้เป็น ๒ กรณี บ้าง เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับพระบาฬี ดังที่ท่านจะย้ำไว้เสมอๆว่า วิธีการในหลักไวยากรณ์ จะต้องเหมาะสมกับพระชินพจน์ และ ไม่ขัดแย้งกับพระชินพจน์นั้น ดังนั้น หลักไวยากรณ์ในภาษาบาฬี ท่านจึงบอกว่า เป็นไปโดยส่วนมาก. การมีคำศัพท์นั้นๆ ตามที่ใช้จริงในพระบาฬีและอรรถกถา ฎีกา จึงถือเป็นหลักการเครื่องกำหนดเกณฑ์การใช้ของคำศัพท์นั้นอีกด้วย.
ในพระบาฬีบางแห่ง อาจมีมุมมองเกี่ยวกับคำศัพท์ของอาจารย์ไวยากรณ์กับพระอรรถกถาจารย์เป็นต้นที่แตกต่างกัน และแม้อาจารย์ไวยากรณ์แต่ละสำนักก็ยังมีความเห็นที่ต่างกันอีกด้วย. ในกรณีนี้ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเกิดจากการพิจารณารูปศัพท์ที่สำเร็จแล้วเป็นสำคัญ ส่วนวิธีการคงเป็นทางมาเท่านั้น.
แม้ในเรื่องการลง ต อาคม นี้ก็พบว่า มีแตกต่างกันโดยหลักการทั้ง ๒ ดังกล่าว ดังนั้น ในวันนี้ จะแสดงทั้งสองกรณีไปพร้อมกัน
๑. หลักการในคัมภีร์ไวยากรณ์
คัมภีร์นิรุตติทีปนีแสดงการลง ต อาคมไว้ในตัวอย่างเหล่านี้
(๑). อชฺชตคฺเค เริ่มแต่วันนี้เป็นต้นไป (ตามพยัญชนะ คือ กระทำวันนี้ให้เป็นวันแรก)
คำนี้ตัดเป็น อชฺช + อคฺเค โดยลง ต อาคม
(๒) ตสฺมาติห เพราะเหตุนั้น ในพระศาสนานี้
คำนี้ตัดเป็น ตสฺมา + อิห โดยลง ต อาคม
หลักการลง ต อาคมในกรณีนี้ คัมภีร์ปทรูปสิทธิให้หลักการไว้ว่า
ตกาโร ยสฺมา ตสฺมา อชฺชาทิโต อิหคฺคาทิมฺหิฯ ยสฺมาติห, ตสฺมาติห, อชฺชตคฺเคฯ
ลง ต อาคม ท้าย ยสฺมา ตสฺมา และ อชฺช เป็นต้น และ หน้า อิห และ อคฺค ศัพท์ เป็นต้น
(๓) กตโม นาม โส รุกฺโข, ยสฺส เตวํคตํ ผลํ
ต้นไม้ของท่านที่มีผลเป็นรูปอย่างนี้ พวกไหน
(ในที่นี้แปลตามปาฐะในคัมภีร์นี้ แต่ปาฐะปัจจุบ้นเป็น
อมฺโภ โก นาม โส รุกฺโข, ยสฺส เตวํคตํ ผลํ
“พ่อมหาจำเริญ ต้นไม้ของท่านชื่ออะไรที่มีผลเป็นอย่างนี้”)
ในตัวอย่างนี้ ศัพท์ที่มีการลง ตอาคม คือ เตวํ ซึ่งตัดบทเป็น เอ + ต + วํ ดังนั้น รูปว่า เตวํ ที่แท้คือ เอวํ นั่นเอง
-----------------
๒ หลักการใช้ในพระบาฬีและอรรถกถาฎีกา
ในคำศัพท์ว่า อชฺชตคฺเค นั่นเอง คัมภีร์อรรถกถากลับมองเห็นอีกแนวทางหนึ่งในการสำเร็จรูป. เมื่อหลักไวยากรณ์ระบุว่า ตัดบทเป็น อชฺช + อคฺค ลง ต อาคม ท้าย อชฺช และ หน้า อคฺค ศัพท์ แต่ในขณะเดียวคัมภีร์อรรถกถาบอกว่า ตัดเป็น อชฺชตา + อคฺค.
ในเรื่องนี้ หากว่า คัมภีร์อรรถกถาถูก หลักไวยากรณ์ก็ผิด, ถ้าหลักไวยากรณ์ถูก คัมภีร์อรรถกถาก็ผิด. แต่อันที่จริงไม่ควรเห็นเช่นนั้น คัมภีร์อรรถกถามองว่า อชฺชตํ เป็นคำที่กลายมาจาก อชฺช โดย ลง ตา ศัพท์ ที่เป็นปัจจัยชนิดหนึ่ง ใช้แสดงความหมายว่า มี หรือ เป็น และไม่มีความหมายเหมือนกับการลง ต อาคมนั่นเอง. ความเห็นทั้งสองจึงเป็นเพียงแนวทางที่ต่างกันโดยไม่ใช่ข้อขัดแย้งกัน.
อชฺชตคฺเค ศัพท์นี้มาในพระบาฬีหลายแห่ง และมีอรรถกถาอธิบายในแต่ละแห่งที่เหมือนกัน.ข้าพเจ้าจะยกมาเพียง ๑ แห่ง คือ อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัพพาสวสูตร ม.มู.อ. ๑/๕๖ ตอนอธิบายข้อความว่าด้วยวิธีประกาศตนเป็นอุบาสก
ข้าพเจ้าใคร่ขอสาธกเนื้อความในอรรถกถานั้นดังนี้
อชฺชตคฺเคติ เอตฺถ อยํ อคฺคสทฺโท อาทิโกฏิโกฏฺฐาสเสฏฺเฐสุ ทิสฺสติ ฯปฯ อิธ ปนายํ อาทิมฺหิ ทฏฺฐพฺโพฯ ตสฺมา อชฺชตคฺเคติ อชฺชตํ อาทิํ กตฺวา, เอวเมตฺถ อตฺโถ เวทิตพฺโพฯ อชฺชตนฺติ อชฺชภาวํฯ อชฺชทคฺเคติ วา ปาโฐ, ท-กาโร ปทสนฺธิกโร, อชฺช อคฺคํ กตฺวาติ อตฺโถฯ (ม.มู.อ. ๑/๕๖ สัพพาสวสูตร - อุปาสกวิธิกถาวณฺณนา)
อคฺค ศัพท์ ในคำว่า อชฺชตคฺเค (อชฺชตา + อคฺเค) มีความหมายอยู่ ๔ ประการ คือ
๑) อาทิ ลำดับแรก, เบื้องต้น
๒) โกฏิ ที่สุด, เบื้องปลาย
๓) โกฏฺฐาส ส่วน
๔) เสฏฺฐ ประเสริฐ, เลิศ
ฯลฯ (ในอรรถกถาช่วงนี้ท่านจะสาธกตัวอย่างการใช้อคฺคศัพท์ในความหมายทั้ง ๔ นั้น ข้าพเจ้าขอละไว้ก่อน)
ในคำว่า อชฺชตคฺเค นี้ ใช้ในความหมายว่า อาทิ แปลว่า เบื้องต้น. ดังนั้น คำนี้จึงมีความหมาย(ตามศัพท์ว่า) กระทำซึ่งความเป็นของวันนี้ให้เป็นเบื้องต้น. ส่วนคำว่า อชฺชตํ ใช้แทนคำว่า อชฺชภาวํ. (อชฺช + ตา ปัจจัย ในภาวตัทธิต + อํ วิภัตติ แปลว่า ซึ่งความเป็นของวันนี้). ยังมีอีกรูปศัพท์หนึ่ง คือ อชฺชทคฺเค. ในรูปนี้ ท เป็นอักษรทำหน้าที่เชื่อมบท, ความหมายคือ ทำวันนี้ให้เป็นวันเริ่มต้น.
--
ในคำอธิบายของอรรถกถายังมีความลี้ลับที่ควรรู้บางประการ คือ
๑. คำว่า อชฺชตํ (อชฺชตา + อํ) ที่ว่า อชฺชภาวํ (อชฺชภาว + อํ) นั้นเป็นอย่างไร
๒. เหตุไร จึงประกอบรูปเป็น อชฺชตคฺเค ควรเป็นทุติยาวิภัตติว่า อชฺชตคฺคํ
เรื่องนี้มีคำตอบ
๑. อชฺชตา เมื่อลงทุติยาวิภัตติเป็น อชฺชตํ มาจาก อชฺช + ตา ในภาวตัทธิตนั่นเอง คือ ใช้ อักษรว่า ตา แทนคำว่า ภาว ที่หมายถึง เหตุแห่งศัพท์และความรู้ว่า อชฺช (วันนี้). คำว่า เหตุแห่งศัพท์ ก็คือ สิ่ง ๕ ประการที่ทำให้สำเร็จคำนี้ ได้แก่ ชาติ ได้แก่ ความเหมือนกัน หรือ กำเนิดของวัตถุนั้น, คุณ ได้แก่ ลักษณะพิเศษที่ของวัตถุนั้น, ทัพพะ ได้แก่ วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่อยู่ในวัตถุนั้น, กิริยา ได้แก่ อาการที่วัตถุนั้นเป็นไป, นาม ได้แก่ ชื่อเรียกของวัตถุนั้น.
ในกรณีนี้ อชฺชตา ความเป็นแห่งวัน คือ กิริยาเป็นไปของกาลซึ่งเข้าถึงความธำรงอยู่ในช่วงที่มีการแสดงธรรมนั้นเอง (การเป็นไปของเวลาในช่วงที่มีการแสดงธรรม). ดังนั้น ที่ว่า วันนี้ (อชฺช) คือ กาลเวลาที่เป็นไปในช่วงนี้คือ ตั้งแต่รุ่งเช้าที่อาศัยวันนั้นไปจนถึงรุ่งเช้าอีกวัน โดยอาศัยความที่กาลยังธำรงอยู่.
เพราะเหตุนั้น คำว่า กระทำความเป็นวันนี้ให้เป็นวันเริ่มต้น จึงมีความหมายอย่างนี้ว่า กระทำซึ่งความเป็นของวันนี้ คือ ความธำรงอยู่ในสมัยนั้นให้เป็นครั้งแรก
สรุปสั้นๆ ง่ายได้ใจความ ความเป็นวันนี้ คือ ความเป็นไปของกาลที่มีอยู่ในสมัยนั้นเริ่มตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงอรุณขึ้นอีกครั้ง
อีกกรณีหนึ่ง อชฺชตา ที่แท้ก็แปลว่า วัน นั่นเอง ในความหมายนี้ ตา ปัจจัย ไม่มีความหมายพิเศษ แต่เป็นไปในความหมายของศัพท์ที่ตนประกอบอยู่นั่นเอง เรียกตาปัจจัย นี้ว่า สกัตถะหรือ ตัพพภาววุตติ
นี่เป็นความหมายของ อชฺช + ตา + อคฺค ในคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งมีมุมมองที่ต่างจากคัมภีร์ไวยากรณ์. อย่างไรก็ตาม คัมภีร์อรรถกถายังเสนอว่า มีรูปอื่นที่ใกล้เคียงกับ อชฺชตคฺเค กล่าวคือ อชฺชทคฺเค ในกรณีนี้ ทอักษรนั่นเอง เป็นอาคม ซึ่งเพิ่มเข้ามาเพื่อเชื่อมบทว่า อชฺช และ อคฺเค เข้าหากัน. ดังนั้น ในกรณีนี้ อชฺชทคฺเค ก็มีความหมายว่า ทำวันนี้ให้เป็นวันเริ่มต้นเหมือนกัน.
๒. คำว่า อคฺเค ไม่เป็น อคฺคํ เรื่องนี้ มีเรื่องที่ควรยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า ในการใช้ภาษาในพระบาฬีแม้ออกนอกเกณฑ์ไวยากรณ์ไปบ้าง เป็นเพราะเป็นสำเนียงท้องถิ่น และเมื่อมีการสร้างระบบไวยากรณ์นั้น คำศัพท์ที่เป็นสำเนียงพูดของท้องถิ่นนั้น ก็ติดเข้ามาในพระบาฬีอย่างเลี่ยงไม่พ้น. คำพูดที่ไม่ตรงกับวิภัตติ ก็ดี วจนะ ก็ดี ลิงค์ ก็ดี วิเสสนะ ก็ดี เรียกว่า วิปลาส หมายถึง การใช้ศัพท์ไม่ตรงกับความหมาย และไม่ได้หมายความว่า วิปลาส ในที่นี้ คือ การใช้ผิดวิภัตติ เป็นต้น.
คำว่า อคฺเค ในที่นี้ ก็จัดเป็นวิภัตติวิปัลลาส เพราะใช้สัตตมีวิภัตติแทนทุติยาวิภัตตินั่นเอง
อีกกรณีหนึ่ง คำว่า อคฺเค เกิดจากการแปลง อํ ที่เป็นทุติยาวิภัตติ เป็น เอ. [4]
****
อนุโมทนาสาธุ และขอบพระคุณครับ
ตอบลบ